นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงแนวทางการหารือในที่ประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา วันพรุ่งนี้ (22 ก.ย.) เพื่อเตรียมความพร้อมการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มีญัตติจำนวนมาถึง 6 ญัตติ ขณะที่มีเวลาน้อย จึงกังวลถึงวิธีการบริหารการประชุมและการลงมติในเวลาที่จำกัด
ส่วนเรื่องท่าทีก็คงจะมีการพูดคุยกันบ้าง สิ่งใดที่พอจะเป็นไปได้ หรือมีการติดใจในประเด็นใด หรือเคลือบแคลงในเจตนาอะไร ก็จะนำมาพูดคุยกัน
พร้อมกันนั้น นายสุทิน ยังระบุว่า ขอให้ทุกฝ่ายคิดถึงเสียงเรียกร้องของประชาชน ทั้งผู้ที่มาชุมนุมและไม่ได้มาชุมนุม พิจารณาถึงทางออกของบ้านเมือง เชื่อว่าทุกคนคงคิดได้เพราะเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว
"ถึงเวลาหรือไม่ที่จะต้องเอาประเทศออกจากความขัดแย้ง เดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย หรือจะจมอยู่อย่างนี้ และถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องเสียสละแล้วหรือไม่ ก็ต้องร่วมกันคิดว่าหากเสียสละแล้ว แต่อาจจะไม่ถึงกับต้องเสียเกียรติ หากมีความพร้อม มีเป้าหมายคิดที่จะทำให้ทุกคนไปกันได้ ก็น่าจะมีการพูดคุยกัน" ประธานวิปฝ่ายค้านระบุ
ส่วนการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาจะมีผลต่อการตัดสินใจของวุฒิสภาในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้น แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดูไม่ได้เป็นประเด็นหลักที่มีการปราศรัย แต่หากแยกแยะออก ก็คงเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหลัก เพราะข้อเรียกร้องใดๆ ก็ตาม รัฐธรรมนูญคือกุญแจ หากไม่จัดการที่รัฐธรรมนูญ เสียงเรียกร้องต่างๆ เดินไม่ได้ จึงเชื่อว่ามีผลต่อการตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"อยากให้ตระหนักว่า หากไม่รับข้อเสนอ หรือไม่ทำอะไรเลย อาจจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นบ้าง และการชุมนุมหน้ารัฐสภาวันที่ 24 ก.ย.นี้ ยิ่งเป็นโอกาสดีของสมาชิกรัฐสภา ที่ประชาชนมาแสดงความต้องการแบบทางตรงให้เห็น" นายสุทิน ระบุ
ส่วนการลงมติของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่อาจมีการควบคุมเสียงโดย ส.ว.ที่เป็นผู้นำเหล่าทัพนั้น นายสุทิน กล่าวว่า เมื่อ ส.ว.ได้โอกาสที่ดีในการเข้ามาทำงานกำหนดทางเลือกให้กับประเทศ ก็ควรมีความเป็นอิสระ แต่ก็มองว่าจุดที่น่าสนใจอยู่ที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล โดยวุฒิสภาจะต้องเลือกระหว่างชาติบ้านเมืองกับกลุ่มคนที่อยากจะให้ ส.ว.ทำอะไรให้
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่กลุ่ม ILaw จะมายื่นวันพรุ่งนี้ นายสุทิน กล่าวว่า คงไม่สามารถเข้าสู่ระเบียบวาระได้ทันวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ แต่เบื้องต้นก็ได้มีการหารือว่าจะให้ภาคประชาชนมาร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ และยังมีโอกาสอีกครั้งในกระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างอยู่แล้ว หรือหากมีเหตุพลาดพลั้ง ก็ยังมีโอกาสยื่นญัตติซ้ำได้ หรืออาจนำเอาประเด็นความคิดต่างๆ ที่อยู่ในร่างของภาคประชาชนกลุ่ม ILaw เข้าไปเติมในชั้นคณะกรรมาธิการได้หากมีความสอดคล้องในหลักการ