นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานประชุมวิป 3 ฝ่าย ทั้ง ส.ส.รัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก (ส.ว.) เพื่อหารือเตรียมความพร้อมการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภาช่วงวันที่ 23-24 ก.ย.นี้
ขณะที่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง ส.ว.สนับสนุนถึง 84 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งก็ไม่รู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า แต่สภาผู้แทนราษฎรต้องพยายามชี้แจงเหตุผลให้สมาชิกรัฐสภาเห็นด้วย และหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นด้วยกับญัตติของรัฐบาล ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐสภา โดยไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ จากรัฐบาล
ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอให้เปิดการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อเร่งพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นในชั้นกรรมาธิการนั้น นายวิรัช เห็นว่า จะต้องรอพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีการเร่งรัด เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้หยุดพักในช่วงปิดสมัยประชุม หลังทำหน้าที่มาตลอด 4 เดือน เพราะจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญปกติในวันที่ 1 พ.ย.แล้ว
ประธานวิปรัฐบาล ยืนยันว่า ไม่รู้สึกกังวลต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงกลุ่มต่างๆ ที่จะมาชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย.นี้
ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงญัตติทั้ง 6 ฉบับจะผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการทั้งหมดเลยหรือไม่นั้นว่า ไม่สามารถประเมินได้ แต่หากประเด็นใดเห็นตรงกันก็ร่วมกันได้เลย ประเด็นใดที่มีหลักการตรงกันก็สามารถพิจารณาพร้อมกันได้ เช่น ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ของวิปทั้ง 2 ฝ่าย (ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล) ควรนำมาพิจารณาก่อน แต่หาก 6 ญัตติไม่ผ่านในวาระรับหลักการ ตนเองก็จะยื่นญัตติอีกครั้งในสมัยประชุมหน้า ดังนั้นก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า กรอบเวลาในการพิจารณานั้น วันแรกก็ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จในญัตติที่มีหลักการเดียวกัน และญัตติที่เหลือก็เป็นวันถัดไป ซึ่งการลงมตินั้นจะต้องมีการขานชื่อในการโหวต ตนเองจะเสนอในที่ประชุมร่วมทั้ง 3 ฝ่ายว่าอยากให้มีการโหวตแบบขานชื่อ แต่สามารถโหวตได้ในคราวเดียวทั้ง 6 ญัตติ เช่น ซึ่งการทำเช่นนี้จะเป็นการประหยัดเวลาในการโหวต
ส่วนตัวแทนภาคประชาชนจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการคนนอกหรือไม่ก็จะมีการพูดคุยกันในที่ประชุมด้วยเพราะเมื่อศึกษาดูแล้วหลักการใกล้เคียงกัน ตนเองก็อยากให้มาร่วมกัน ส่วนเนื้อสาระก็นำเข้าในชั้นแปรญัตติได้
ประธานวิปฝ่ายค้าย กล่าวถึงการเปิดประชุมสมัยวิสามัญว่า ในฐานะฝ่ายค้านมองว่าหลังจบพิจารณารับหลักการแล้ว จะยื่นขอเปิดประชุมวิสามัญทันที แต่ก็ต้องดูอีกทีว่า ให้กรรมาธิการในการพิจารณากี่วัน ถ้า 60 วัน ก็ต้องเปิดในสมัยหน้า แต่หากให้พิจารณาเพียง 14-15 วัน เวลาที่เหลืออีก 15 วันก็ควรจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้