(เพิ่มเติม) "จุรินทร์" ย้ำปชป.หนุนญัตติแก้ รธน.ของรัฐบาล ค้านตั้ง กมธ.ศึกษา 6 ญัตติ

ข่าวการเมือง Wednesday September 23, 2020 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคฯ มีมติสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่ลงชื่อร่วมเสนอกับพรรครัฐบาล โดยย้ำหลักการแก้มาตรา 256 เปิดช่องให้ตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) และไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2 ที่เป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดรูปแบบของประเทศ ทั้งนี้วิป 3 ฝ่ายจะหารือกันอีกครั้งเพื่อหาจุดร่วมในการทำให้การแก้ไขสัมฤทธิ์ โดยต้องรอดูผลการหารืออีกครั้ง

โดยนายจุรินทร์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ คือ 1.รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีหลายประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งเนื้อในและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทเฉพาะกาล และ 2.ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ แต่เมื่อถึงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสมก็ควรได้รับการแก้ไขได้ แม้แต่ในตัวรัฐธรรมนูญเองก็ได้เปิดทางไว้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อมีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในเวลานั้น แต่เมื่อผ่านประชามติ ตนก็ยอมรับเพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตยเบื้องต้น และเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเชิญจากพรรคพลังประชารัฐให้เข้าร่วมรัฐบาลตามวิถีทางประชาธิปไตยระบบรัฐสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขก่อนการตัดสินใจร่วมรัฐบาล

"รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ควรจะมีการแก้ไขมาตรา 256 ที่ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขไว้ซับซ้อน และมากเงื่อนไขจนเกือบจะเรียกได้ว่าปิดประตูตาย ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบจะทำไม่ได้ หากเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้เป็นเบื้องต้น อย่างน้อยก็จะเป็นการสะเดาะกุญแจที่รัฐธรรมนูญนี้ล็อคไว้ให้เปิดออกไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในอนาคตยิ่งขึ้นได้" นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่เสนอญัตติให้มีการจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมา เพื่อศึกษาประเด็นที่เห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญจนกระทั่งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวได้นำผลการพิจารณานำเสนอต่อสภาแล้ว เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

สำหรับการเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีข้อจำกัด ไม่สามารถเสนอญัตติได้โดยลำพัง เพราะมีแค่ 52 เสียง ขณะที่การเสนอญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความจำเป็นจะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 คือ 100 เสียงโดยประมาณ พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยระบบรัฐสภา โดยใช้วิปรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้วในวันนี้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 256 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องใช้เสียงของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้มีเงื่อนไขแต่เพียงเท่านี้ ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกนั่นคือในเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้นจำเป็นจะต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งคำนวณคร่าวๆ ประมาณ 48 เสียง และจะต้องมีวุฒิสมาชิกให้ความเห็นชอบอีกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียงโดยประมาณ

หลังจากรัฐธรรมนูญผ่านสภายังจำเป็นต้องเอาไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้ง โดยเหตุนี้ความร่วมมือของรัฐสภาจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเสียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะเป็นเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือเป็นเสียงของวุฒิสมาชิกขาดหายไปไม่เพียงพอตามเงื่อนไข การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้

สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ ตนเองสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1 มีการแก้ไขมาตรา 256 ตามที่พรรคได้จุดประกายมาแต่ต้นก่อนตัดสินใจร่วมรัฐบาล และเป็นจุดยืนมาตั้งแต่เบื้องต้น 2.การกำหนดให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แม้จะมีความเห็นต่างกันบ้างในเรื่องของที่มา ส.ส.ร.แต่ก็สามารถที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไขในขั้นแปรญัตติในวาระที่ 2 ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญคือว่าการตั้ง ส.ส.ร.นั้นจะมีส่วนช่วยให้สามารถปรับปรุงหรือบรรจุประเด็นเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากญัตติหลายญัตติที่เสนอให้มีการแก้ไขรายประเด็นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันนี้ได้ด้วย และ 3.ถ้ามีการจัดตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาระหว่างการยกร่าง พรรคฯจะมีส่วนร่วมในฐานะพรรคการเมืองด้วยการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของ ส.ส.ร.และร่วมให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์ในฐานะผู้ปฏิบัติ และผู้ใช้รัฐธรรมนูญ

โดยพรรคฯ จะนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน หรือแม้แต่สิทธิของผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการทุจริตคอรัปชั่นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ และไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการเลือกตั้งในปัจจุบัน ก็ควรมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้ไม่นำไปสู่ผลการเลือกตั้งแบบเบี้ยหัวแตกจนส่งผลให้การเมืองขาดเสถียรภาพ

และที่สำคัญในเรื่องของอำนาจของหน้าที่ของวุฒิสภา ตนเองสนับสนุนให้มีวุฒิสภา เพราะจากประสบการณ์ที่เป็นนักการเมืองมายาวนาน รัฐสภามีความจำเป็นต้องมีวุฒิสภาประกอบ แต่ถ้าวุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วุฒิสภาก็ควรมีอำนาจและบทบาทจำกัด นั่นคือวุฒิสภาควรมีบทบาทในการกลั่นกรองกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรไป ซึ่งบางครั้งก็ต้องยอมรับความจริงว่ามีข้อบกพร่อง จะด้วยเหตุใดก็ตามในกฎหมายบางฉบับ และถ้าวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง วุฒิสภาก็ควรมีอำนาจนอกจากกลั่นกรองกฏหมายแล้ว ก็ควรมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

นอกจากนั้นระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. พรรคจะทำหน้าที่ร่วมผลักดันให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดำเนินไปด้วยความรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญที่ตนเองเห็นด้วยกับร่างแก้ไขธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่แตะหรือแปลว่าไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2

"ทำไมผมคิดว่าหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 มีความสำคัญ ที่มีความสำคัญก็เพราะเหตุว่าหมวดที่ 1 ที่ 2 นั้นเป็นหมวดที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ รูปแบบของความเป็นประเทศของเรา และเป็นหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์" นายจุรินทร์ กล่าว

โดยในหมวดที่ 1 มาตรา 1 ระบุไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ และมาตรา 2 ที่สำคัญไม่แพ้กัน ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ตนเองสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะระบุชัดว่าจะไม่แก้ไข และไม่แตะทั้งหมวด 1 และหมวด 2

"ทั้งหมดนี้คือจุดยืนของกระผม และน่าจะกราบเรียนกับท่านประธานได้ว่า เป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ผมหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีหลักการชัดเจนให้แก้มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างใหม่เพื่อความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 จะได้รับการสนับสนุนทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก เพื่อให้ประเทศไทยของเราเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้ในอนาคต เพื่อรัฐสภาได้เป็นที่พึ่งของประชาชนและเพื่อให้รัฐสภาได้เป็นวิธีหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง" นายจุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการประชุมอภิปรายฯ นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ร่วมลงมติในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคมีมติชัดเจนแล้ว หากมีการลงมตินอกเหนือจากนั้น ส.ส.ต้องมีคำชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงดำเนินการเช่นนั้น

นายจุรินทร์ ยังไม่เห็นด้วยที่จะมีการตั้งกรรมาธิการศึกษา 6 ญัตติก่อน โดยระบุว่าไม่จำเป็นเพราะเคยตั้งกรรมาธิการศึกษารัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านี้แล้วและสรุปเสนอต่อสภาแล้ว การตั้งซ้ำซ้อนเกินความจำเป็น โดยเห็นว่ารัฐสภาน่าจะตัดสินใจลงมติรับหรือไม่รับหลักการได้เลย

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เคยพูดว่าจะมีการตั้งกรรมาธิการศึกษา 6 ญัตติก่อนรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นคำถามจากสื่อมวลชนซึ่งตนเองตอบไปว่าเคยได้ยินเท่านั้น

สำหรับ ส.ว.มีผู้แจ้งความประสงค์ที่จะอภิปรายรวม 27 คน ส่วนจะลงมติรับหลักการในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนเองมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งตนเองและรัฐบาลไม่มีคำสั่งหรือชี้นำสมาชิกในประเด็นนี้

เมื่อถามว่า เสียง ส.ว. 84 เสียงสำคัญต่อการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ครบจะทำให้การเมืองร้อนขึ้นหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญสร้างมาเช่นนั้น และให้สมาชิกลงมติตามที่เห็นสมควร ไม่มีการตั้งเป้าว่าจะลงครบหรือไม่ แต่การลงมติครั้งนี้ต้องอธิบายต่อสังคมได้ และสังคมมีสิทธิวิจารณ์ได้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ