ที่ประชมรัฐสภาลงมติเห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับก่อนนำไปสู่การพิจารณารับหลักการ ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 432 เสียง ไม่เห็นด้วย 255 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง หลังจากพักการประชุมไป 10 นาทีก่อนจะกลับมาลงมติ และตัวแทนวิปรัฐบาลยืนยันสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการฯ ทำให้ไม่มีการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯในวันนี้
โดยข้อเสนอของวิปรัฐบาลระบุว่าให้ตั้งกรรมาธิการตามมาตรา 121 วรรค 3 จากตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. จำนวน 45 คน แต่ฝ่ายค้านทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่ไม่ขอส่งตัวแทนเข้าร่วมในกรรมาธิการชุดดังกล่าว
ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าวมีจำนวน 31 คน ประกอบด้วยตัวแทนจาก ส.ว. 15 คน พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน
ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐสภาได้กำหนดระยะเวลาพิจารณาของคณะกรรมาธิการเป็นเวลา 30 วัน
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ เพราะเกรงว่าจะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะล้มเหลว ข้ออ้างว่ายังไม่เคยคุยกันหรือข้อมูลไม่พอที่จะลงมตินั้น ไม่เคยมีการกล่าวมาในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือส.ว. โดยไม่มีท่าทีว่าจะไม่เอาทั้ง 6 ร่าง
"นี่คือรับหลักการ ขั้นไม่ใช่รายละเอียด ข้อมูลเราเพียงพอต่อการรับหลักการแล้ว เราเชื่อว่าครบถ้วนทุกแง่มุม ที่บอกขอรายละเอียดไม่พอ ส.ว. รู้ดีกว่าพวกผมด้วยซ้ำ ดังนั้นเหตุผลนี้จึงฟังไม่ขึ้น หากเราจะศึกษาเนื้อหาสาระก็มีการตั้งกมธ.ศึกษาฯมาแล้ว โดยมีตัวแทนสมาชิกทุกฝ่าย มีการลงไปถามชาวบ้านศึกษาทุกเรื่อง ละเอียดที่สุด และนำมาเสนอในสภาแห่งนี้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องศึกษาอีกเพราะเสียเวลาเปล่า"นายสุทิน กล่าว
ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กรรมาธิการต้องการประวิงเวลา 1 เดือนเพื่อคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พรรคก้าวไกลคงไม่สามารถร่วมสังฆกรรมได้
"พรรคก้าวไกล ไม่อาจสังฆกรรมได้ แต่จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญในรูปแบบอื่น"นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าว ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้วอล์คเอ้าท์ออกจากห้องประชุม เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว