นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาก่อนรับหลักการตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา กล่าวว่า การทำงานของ กมธ.หลังจากนี้ไปจะมีความน่าเชื่อถือหรือตอบโจทย์สังคมได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการรวบรวมข้อมูลว่ายังมีจุดแข็ง-จุดอ่อนจาก 6 ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีแนวทางที่ดีกว่าก็ได้
นายเสรี ตั้งคำถามว่า การจะใช้เงินกว่าหมื่นล้านบาทในการทำประชามติ เพียงเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่ไม่ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยกเลิกผลพวงประกาศคำสั่ง คสช. หรือแค่จะแก้ปัญหาบัตรเลือกตั้ง และระบบเลือกตั้ง เป็นต้นเหตุเท่านั้นเองหรือ แค่นี้หรือจะใช้เงินถึงหมื่นล้านบาทไปดำเนินการ ต้องคิดถึงผลประโยชน์ชาติโดยรวมและความคุ้มค่าด้วย เพราะสมาชิกรัฐสภาบางคนเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติประชาชนมากว่า 16 ล้านเสียงเหมือนกัน จึงต้องรับฟังเสียงเหล่านี้ด้วย
"จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งทีจะใช้วิธีกดดันเอาให้ได้โดยไม่ฟังเหตุผลกันเลย ในที่สุดประเทศจะเสีย หากปล่อยให้โหวตแล้วมติออกมาว่าไม่ผ่านก็มาโทษ ส.ว.และไล่ ส.ว.อีก ตกลงบ้านเมืองจะอยู่กันอย่างนี้ โดยคนกลุ่มหนึ่งมากดดันตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้เชียวหรือ" นายเสรี กล่าว
นายเสรี เชื่อว่า กมธ.จะทำงานออกมาได้มีความน่าเชื่อถือ เพราะอาจจะเจอข้อเสนอที่ดีและเป็นประโยชน์กว่า 6 ญัตติที่เสนอมาก็ได้ อีกทั้งการตั้ง กมธ.ชุดนี้ขึ้นมาก็ไม่ได้ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือร่างของ Ilaw ตกไป
"ขอยืนยันว่าร่างของ Ilaw ยังอยู่ รอเข้าพิจารณาในสมัยประชุมหน้า อย่าไปสร้างกระแสให้คนเข้าใจผิด และสิ่งที่ควรระวังจะต้องไม่กระทบสถาบัน และเราต้องทำหน้าที่ปกป้องสถาบันด้วย" นายเสรี กล่าว