นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วานนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมีความเห็นไปทางเดียวกันให้สนับสนุนร่างฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2
ส่วนร่างแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) นั้นยังต้องรอการบรรจุวาระก่อนจึงจะพิจารณาได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ถือว่าร่างที่กรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการจะต้องนำมาพิจารณายังมีแค่ 6 ร่าง
สำหรับสิ่งที่ต้องเร่งทำต่อไปคือหารือจุดร่วมกับวุฒิสมาชิก เพราะหากทั้ง 3 ฝ่ายคือพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก เห็นพ้องกันก็แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ จึงได้สั่งการให้กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ผลักดันอย่างเต็มที่ในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการในช่วง 1 เดือนนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทั้งจุดยืนพรรคและนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการพูดคุยเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวมองว่ารัฐบาลแห่งชาติในโลกจะเกิดได้ก็ต้องอยู่ในภาวะสงครามหรือในภาวะวิกฤติที่ระบบปกติไม่มีทางไป แต่สำหรับสถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้ระบบรัฐสภายังเดินหน้าไปได้ตามปกติ จึงไม่เห็นความจำเป็น และไม่ทราบที่มาที่ไปของข่าว
ด้านนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ที่ทางรัฐสภาตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานในกรอบ 30 วันจะมีความชัดเจนขึ้น และเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศเดินไปในทิศทางที่คาดหวังไว้ และทุกอย่างจะต้องมีการพูดคุยกัน แต่รู้สึกเสียดายที่ฝ่ายค้านไม่ได้เข้าร่วมในกรรมาธิการฯ ที่ถือเป็นเวทีที่จะได้แสดงความเห็น แต่เชื่อว่ากรรมาธิการคงไม่ปิดกั้นหากฝ่ายค้านจะเสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆเข้ามา
ส่วนหากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการออกมาแล้วจะไม่เป็นที่ยอมรับเพราะไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วมจะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่นั้น นายอนุชา กล่าวว่า คิดว่าเป็นธรรมดาที่ในระบอบประชาธิปไตยจะมีผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่าง และสุดท้ายก็ต้องเป็นไปตามเสียงของคนส่วนใหญ่ และต้องมีการพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปให้ลงตัวและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ไม่ใช่เอาชนะกันจนลืมไปว่าประเทศเป็นของคนทุกคน ไม่ใช่ของเสียงใดเสียงหนึ่งจะมีอำนาจ
นายอนุชา ยังฝากไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจไม่ยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการว่า ทุกอย่างต้องมีการพูดคุยกัน ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามความเห็นของคนกลุ่มเดียว ยังมีอีกหลายกลุ่ม ทั้งคนที่แสดงออกและไม่แสดงออก ดังนั้นต้องดูว่าจะทำยังไงที่จะหาจุดร่วม เพื่อให้สังคมอยู่รอดปลอดภัยและเดินไปข้างหน้าได้
ขณะที่ความเห็นต่างภายในพรรคพลังประชารัฐเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่มีความเห็นต่างและเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นก็ต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งตนและพรรคพลังประชารัฐ มีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะร่วมมือกันนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติความขัดแย้ง
ส่วนจะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเสนอไปหรือไม่ นายอนุชา กล่าวย้ำว่า ก็ต้องไปดูในชั้นกรรมาธิการฯ ขณะนี้ยังไม่ควรแสดงความเห็นหรือชี้นำ และคิดว่านายกรัฐมนตรี มีเจตนาและหวังดี อยากให้บ้านเมืองเดินไปได้