(เพิ่มเติม) "ชวน" หวังกมธ.พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญหาทางออกร่วมกันได้ระหว่างส.ส.-ส.ว.

ข่าวการเมือง Wednesday September 30, 2020 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณให้รัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพื่อแก้ไขมาตรา 256 ว่า การตัดสินใจเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภา แต่แม้ว่าในการลงมติจะมีเสียงส.ส.เป็นเอกฉันท์ แต่ร่างดังกล่าวก็จะผ่านความเห็นชอบไม่ได้ หากไม่มีเสียงของส.ว. 1 ใน 3 ร่วมลงมติด้วย ดังนั้นจึงหวังว่าในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับก่อนรับหลักการ จะมีการหารือพูดคุยกันและเจรจาเพื่อเกิดทางออกที่ดีของทั้งสองฝ่าย

ส่วนความกังวลว่าหากมีร่างใดร่างหนึ่งตกไป นายชวน กล่าวว่า เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การเมือง เพราะทุกร่างที่มีการเสนอเข้ามามีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งทุกฝ่ายต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ก่อนรับหลักการต้องกลับไปพิจารณา คือ การที่มีกรรมาธิการไม่ครบทุกฝ่าย และต้องเข้าใจว่ามีหน้าที่ในการศึกษาในกรอบระยะเวลาสั้นๆเพียง 30 วัน ผลการศึกษาที่ออกมาต้องไม่ใช่การจะล้มร่างใดร่างหนึ่ง แต่การหารือในคณะกรรมาธิการฯ จะได้ผลดีกว่าการถกเถียงในห้องประชุมรัฐสภา

นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเสียดายที่พรรคการเมืองบางพรรคไม่ได้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ เพราะหากเข้าร่วมก็จะได้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละร่าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ทั้งนี้ การที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ก็เพื่อต้องการให้เคลียร์ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการ

พร้อมยืนยันว่า แม้จะไม่มีพรรคฝ่ายค้านมาร่วมด้วย แต่ร่างก็ไม่ตกไป เพราะต้องรอการลงมติรับหลักการวาระแรก ซึ่งในตอนนั้นก็จะเห็นเค้าลางว่าร่างใดจะได้รับความเห็นชอบ และมีข้อสังเกตอย่างไร

ส่วนกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนของกลุ่ม iLAW นั้น ยอมรับว่าต้องศึกษาและตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ เพราะการเสนอกฎหมายที่ผ่านมา มักเจอปัญหาเรื่องรายชื่อของภาคประชาชน ดังนั้นหากร่างของ iLAW ตรวจสอบได้ไม่ทัน ก็จะต้องเร่งนำ 6 ฉบับเดิม เข้าสู่ที่ประชุมก่อน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกทั้งแต่ละฝ่ายคงไม่ยอมให้มีการเลื่อนอีก

ประธานวุฒิสภา ยังกล่าวถึงกรณีการจะแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่แทนตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพเดิมว่า จะต้องให้บุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งแสดงคุณสมบัติให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องของการถือครองหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานของรัฐ รวมถึงการถือครองหุ้นสื่อ ที่จะต้องไปจัดการเรื่องดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน โดยหากดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของตนที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ