ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ รัฐสภา นัดแรกมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เป็นประธาน กมธ.ฯ และมีรองประธาน กมธ.ฯ 6 คน ได้แก่ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์, นายไพบูลย์ นิติตะวัน, นายศุภชัย ใจสมุทร, นายชินวรณ์ บุญเกียรติ, นายวิเชียร ชวลิต และนายนิกร จำนง รวมทั้งมีที่ปรึกษาฯ 4 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก, นายอิสระ สมชัย, นายสมชาย แสวงการ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส่วนโฆษก กมธ.ฯ 2 คน ได้แก่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ และมีนายณัชนนท์ ศรีก่อเกื้อ เป็นเลขานุการ กมธ.ฯ
เบื้องต้น กมธ.ฯ ได้มีการหารือร่วมกันว่าควรให้ผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดมาชี้แจงข้อมูลเพื่อให้ กมธ.ฯ ได้พิจารณา โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรกควรเร่งพิจารณา หากเวลายังไม่เพียงพอก็อาจเพิ่มวันประชุมได้เพื่อแสดงความจริงจังให้สังคมได้รับทราบ และส่วนหนึ่งเห็นว่าควรเชิญนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาชี้แจงผลการศึกษาให้ที่ประชุมรับทราบด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ โฆษกกมธ. กล่าวภายหลังการประชุมว่า กมธ.ฯ มีกำหนดการประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และจะประชุม สัปดาห์ละ 3 วัน ก่อนส่งรายงาน สภาผู้แทนราษฎรภายในวันที่ 23 ต.ค. โดยยืนยันว่า กมธ.ฯ จะเร่งทำหน้าที่ตามกรอบเวลา 30 วัน
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นกรรมาธิการนั้นเชื่อว่า ไม่เป็นปัญหาเพราะกรรมาธิการฯ เห็นตรงกันว่าจะต้องเชิญผู้เสนอญัตติเข้ามาให้ข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่ง 5 ใน 6 ญัตติ เป็นของฝ่ายค้านที่จะต้องมาชี้แจง แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะมาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กรรมาธิการซีก ส.ว. ยังมีความกังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในกระบวนการทำประชามติที่มีการพูดคุยกันตามขั้นตอนเบื้องต้นคือการทำประชามติเพื่อแก้ไขมาตรา 256 ไม่ใช่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)