นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 มีข้อดีกว่าฉบับปี 40 เนื่องจากมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่กว้างขวางกว่า เพราะมีกรรมาธิการประจำจังหวัดทุกจังหวัด และแตกย่อยลงไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในทุกอำเภอ
ทั้งนี้ ไม่ปฏิเสธว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มีข้อดีอยู่มากซึ่งต้องคงไว้ ในขณะที่ยังมีข้อบกพร่องจากที่ถูกบิดเบือนจากศาลรัฐธรรมนูญและนักการเมืองบางพรรค ซึ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข และในรัฐธรรมนูญูฉบับปี 50 ได้แก้ไขในจุดบกพร่องเหล่านี้แล้ว
"รัฐธรรมนูญต้องลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชนให้ได้ ในที่สุดเราเลยได้รัฐธรรมนูญที่พยายามลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน ดังนั้นถ้ากลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 จะมีปัญหามากมาย" นายเจิมศักดิ์ กล่าว
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 50 ยังลดอำนาจรัฐด้วยการเพิ่มกระบวนการตรวจสอบของนิติบัญญัติให้มากขึ้น พร้อมยกระดับวุฒิสภาให้เป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิมากขึ้นด้วยการกำหนดคุณสมบัติที่รัดกุมของผู้จะมาทำหน้าที่ ส.ว.เพื่อป้องกันปัญหาการเป็นสภาผัว-สภาเมีย
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย กล่าวว่า ยิ่งอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยิ่งพบว่ามีปัญหาร้ายแรงมาก และไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะขาดหลักการสำคัญคือไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่กลับสร้างความมั่นคงให้กับระบอบเผด็จการ และอำมาตยาธิปไตยอย่างชัดเจน
นอกจากนี้สิ่งที่สร้างความเสียหายมาก คือการนิรโทษกรรมให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 309 ว่า การใดๆ ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)ปี 49 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลัง ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ยังมีเงื่อนไขแวดล้อมที่ทำให้ไม่ควรจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เพราะมีการเตรียมร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน เอาไว้แล้วซึ่งจะทำให้ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)มีอำนาจมหาศาล และนอกจากนี้ยังเป็นการทำลายพรรคที่ไม่สนับสนุนคมช.ด้วย
ดังนั้นหากเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะถือว่ายอมรับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นการนำการปกครองที่ล้าหลังออกมาใช้ และขอว่าอย่าหลอกให้ประชาชนหลงเชื่อว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 แล้วจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีการต่อท่ออำนาจอย่างแน่นอน เพราะ คมช.จะต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ นอกจากนี้การเขียนที่มาของนายกรัฐมนตรี ก็ยังมาจากส.ส.
พร้อมระบุว่ารัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย แม้จะมีด้านอ่อนบ้าง เช่น รัฐบาลไม่เข้มแข็ง แต่ได้เพิ่มสาระสำคัญ เช่น สิทธิเสรีภาพประชาชน, ให้ประชาชนตรวจสอบนักการเมืองง่ายขึ้น มีกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลมือง และยืนยันว่าไม่ได้ให้อำนาจศาลมากขึ้น ตรงกันข้ามศาลกลับถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้นโดยวางกลไกให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาสามารถตรวจสอบศาลได้ หรือแม้แต่การเข้าชื่อของประชาชน 2 หมื่นคน
ขณะที่นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เน้นเรื่องความมีจริยธรรมในภาครัฐอย่างมาก แต่ตัวของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองกับมีปัญหาด้านจริยธรรม นอกจากนี้ยังขาดความเป็นเอกภาพ ขาดหลักวิชาการจากแนวคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในการออกแบบโครงสร้างทางการเมือง
พร้อมเห็นว่า การจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องพิจารณาจากที่มาและเนื้อหา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาทั้งที่มา คือ มาจากการรัฐประหาร ผู้ยกร่างฯ บางคนมีผลประโยชน์ซับซ้อน ส่วนเนื้อหาหลายเรื่องก็จะทำให้มีปัญหาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเลือกตั้ง การสรรหา ส.ว. รวมทั้งมาตรา 309
ดังนั้น แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ส่วนตัวเห็นว่ามีข้อเสียมากกว่า และไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ หากประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับรับรองการกระทำที่อาจไม่ชอบธรรมในบางเรื่อง
"เมื่อเราจะรับหรือไม่รับ ถ้าเราไม่ดูที่มา กระบวนการยกร่างแล้วดูเนื้อหาอย่างเดียว เมื่อชั่งน้ำหนักข้อดีกับข้อเสีย ข้อดีได้สิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เมื่อดูภาพรวมแล้วมีข้อเสียที่มากกว่าจนเทียบกันไม่ได้และไม่ชวนแก้ปัญหาที่เกิดก่อนปี 40 ปัญหาต่างๆ มันจะปะทุขึ้นหลังใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เพราะจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองข้างหน้าเดินไปสู่ภาวะตีบตัน" นายวรเจตน์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--