"วิษณุ" เผยนายกฯ หนุนแก้ รธน. แต่ขอให้รอผลศึกษากมธ. ปัดถ่วงเวลา

ข่าวการเมือง Thursday October 1, 2020 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวว่า รัฐบาลส่งสัญญาณแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เป็นการส่งซิกอะไรทั้งนั้น เพียงแต่มีการพูดคุยกันหลายเรื่องเป็นธรรมดาก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายกรัฐมนตรีได้ปรารภว่าร่างของพรรคร่วมรัฐบาลมีรายชื่อสนับสนุนกว่า 200 รายชื่อ และเมื่อเสนอแล้วไม่สามารถกลับลำได้ ซึ่งทุกพรรคก็เห็นด้วย ส่วนจะทำความเข้าใจกับสมาชิกรัฐสภาได้หรือไม่ ขอให้รอฟังผลการศึกษาว่าจะออกมาในทิศทางใด หากความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องมาอธิบาย แต่ทั้งหมดจะต้องคุยในชั้นกรรมาธิการก่อน

ส่วนกรณีที่ ส.ว.บางส่วนยืนยันไม่ขอรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้ทำประชามติก่อนตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า เป็นเพียงความเห็น ส่วนจะยกคำพิพากษาก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าอำนาจรัฐธรรมนูญเมื่อมาจากประชาชนก็ต้องกลับไปถามประชาชน จะกลับมาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ขอออกความเห็น

"ทุกอย่างต้องไปคุยกันในกรรมาธิการที่ตั้งไว้ รัฐบาลไม่สามารถออกความเห็นได้ ร่างดังกล่าวเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่าง และฝ่ายค้าน 1 ร่าง มีหลักการคล้ายคลึงกัน และร่างของฝ่ายค้านแก้ไขรายมาตราอีก 4 ร่าง และร่างของ iLaw อีก 1 ร่าง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ" รองนายกรัฐมนตรีระบุ

นายวิษณุ กล่าวว่า ทราบมาว่าจะนำบทสรุปและข้อสังเกตของคณะกรรมการชุดนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมการพิจารณา ศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยจะต้องใช้เวลา 30 วันนี้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่ง 30 วันนี้ ไม่ใช่การถ่วงเวลา

"เพราะถึงจะรับหลักการวาระ 1 ในครั้งที่ผ่านมา ก็ยังเดินหน้าอะไรต่อไม่ได้ อย่างมากทำได้เพียงตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาวาระ 2 และ 3 และหลังจากนั้นยังต้องทิ้งระยะเวลาอีกเดือนกว่า เนื่องจากยังทำประชามติไม่ได้ เพราะหากนับตามปฏิทิน กว่าที่กฎหมายประชามติจะผ่าน อาจจะช่วงปลายมีนาคม 2564 ซึ่งรัฐธรรมนูญหากทำแล้วเสร็จเดือนธันวาคม ก็ต้องทิ้งเอาไว้จนกว่ากฎหมายประชามติจะเรียบร้อย แต่หากสภาไม่ปิด แล้วตั้งคณะกรรมธิการ นี่คือการถ่วงเวลา และเมื่อจะขอเปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญก็ทำได้ โดยรัฐบาลขอเปิด หรือเข้าชื่อเพื่อขอเปิดประชุม" รองนายกรัฐมนตรีระบุ

นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ มีทั้งหมด 45 คน โดยมาจากทั้ง 2 สภา เพื่อตรวจแก้ร่างเปิดทางให้มี ส.ส.ร. ซึ่งหากมีการรับหลักการในวาระ 1 คณะรัฐมนตรีจะส่งคนไปเป็นกรรมาธิการไม่ได้ คนนอกก็ไม่ได้ รวมไปถึงร่างของกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ที่เป็นร่างของประชาชน ถ้าสามารถนำเข้าไปพิจารณาได้และมีการรับหลักการในวาระ 1 ก็ไม่สามารถส่งตัวแทนไปเป็นกรรมาธิการได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ