นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และมีพฤติการณ์การกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่จากกรณีถูกกล่าวหาละเว้นไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์
"คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า การกระทำของนายนิพนธ์ บุญญามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีมูลความผิดฐานเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีพฤติการณ์การกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 79 ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจ และไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาดำเนินการต่อไป" นายนิวัติไชย กล่าว
โดยเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน จากการไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.56 อบจ.สงขลา ได้มีประกาศฯ เรื่องจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ชนิด 10 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซลมีกำลังไม่น้อยกว่า 200 แรงม้า จำนวน 2 คัน งบประมาณ 51 ล้านบาท ปรากฏว่าบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล โดยเสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 50.85 ล้านบาท อบจ.สงขลาโดยนายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลาในขณะนั้นจึงได้ทำสัญญาซื้อขายรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ดังกล่าวจากบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ส.ค.56 นายนิพนธ์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา และในวันที่ 8 ต.ค.56 บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ได้แจ้งส่งมอบรถทั้งสองคัน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับรถทั้งสองแล้วเห็นว่ามีปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วน จึงได้รายงานผลการตรวจรับให้ปลัด อบจ.ปฏิบัติราชการแทนนายก อบจ.สงขลา และได้มีการลงนามรับทราบผลการตรวจรับดังกล่าวแล้ว ดังนั้นการตรวจรับรถทั้งสองคันจึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 64 (4) และถือว่าบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ได้ส่งมอบรถทั้งสองคันครบถ้วนตั้งแต่วันที่ได้มีการตรวจรับรถสองคันไว้แล้ว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พัสดุได้แจ้งผลการตรวจรับรถทั้งสองคันต่อนายนิพนธ์ให้ทราบ และลงนามในหนังสือถึงสำนักงานขนส่งจังหวัดสงขลาเพื่อมอบอำนาจให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด จดทะเบียนรถทั้งสองคันให้ อบจ.สงขลา แต่นายนิพนธ์กลับละเว้นไม่ลงนามในหนังสือดังกล่าว ทั้งยังได้เขียนสั่งการในด้านหลังของรายงานผลการตรวจรับรถทั้งสองคันว่าเห็นควรให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้มีการทดลองระบบต่างๆ ของรถดังกล่าวอีก ทั้งที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่ได้รายงานว่ารถทั้งสองคันไม่เป็นตามรูปแบบ รายละเอียด และข้อกำหนดในสัญญา หรือมีเหตุอื่นใดที่จะเป็นเหตุให้ต้องสั่งการดังกล่าว
ต่อมาบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ได้แจ้งให้ อบจ.สงขลา ส่งมอบเอกสารเพื่อไปดำเนินการจดทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบก แต่นายนิพนธ์ก็ไม่ดำเนินการ ทั้งยังแจ้งให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ดำเนินการทดสอบระบบต่างๆ ตามที่สั่งการไว้แล้วจึงจะมีการจดทะเบียนรถต่อไป
วันที่ 7 ม.ค.57 บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ได้นำรถทั้งสองคันไปทดสอบตามที่นายนิพนธ์สั่งการ ผลการทดสอบปรากฏว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งมากับรถมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายและสามารถใช้งานซ่อมถนนได้ หลังจากนั้นวันที่ 5 ก.พ.57 นายนิพนธ์ได้มอบอำนาจให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ไปดำเนินการจดทะเบียนรถทั้งสองคันให้แก่ อบจ.สงขลา ภายหลังจากที่ อบจ.สงขลาได้รับรถทั้งสองคันไปใช้งานแล้ว วันที่ 17 ก.พ.57 เจ้าหน้าที่ได้เสนอเรื่องให้นายนิพนธ์เบิกจ่ายเงินค่ารถทั้งสองคันให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด แต่นายนิพนธ์กลับละเว้นไม่จ่ายเงินตามสัญญา ซึ่งบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด จึงได้ร้องเรียนในเรื่องนี้กับสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 15 (สตง.) และจังหวัดสงขลา โดยทั้งสองหน่วยงานได้มีการแจ้ง อบจ.สงขลาว่า เมื่อกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับรถทั้งสองคันไว้แล้ว อีกทั้งยังได้มีการนำรถทั้งสองคันไปใช้ในราชการอย่างต่อเนื่อง และมีการจดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของ อบจ.แล้ว
ดังนั้นการที่ อบจ.สงขลายังไม่ดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 64 (4) และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 64 และเห็นว่าการเบิกจ่ายเงินล่าช้าดังกล่าวไม่มีเหตุผลอันควรยกขึ้นอ้างกับผู้ขายได้ตามกฎหมาย และอาจถูกผู้ขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จึงขอให้ อบจ.สงขลา พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป
แต่นายนิพนธ์ก็ยังไม่เบิกจ่ายเงินให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด โดยอ้างว่าการเสนอราคากระทำโดยมีเจตนาไม่สุจริตมีพฤติกรรมสมยอมกันในการเข้าเสนอราคาต่อ อบจ.สงขลา และทำให้ไม่เป็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด จึงได้ยื่นฟ้อง อบจ.สงขลา ต่อศาลปกครอง โดยคดีดังกล่าวศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาให้ อบจ.สงขลา ผู้ถูกฟ้องคดี ชำระเงินค่ารถทั้งสองคันพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินจำนวน 52,062,041 บาท ให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด