นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยให้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ตนเองยังไม่เห็นรายละเอียดของคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งมีผลผูกพันกับรัฐสภาแล้ว ดังนั้นหลังจากนี้ขอเวลาดูว่าจะมีผลต่อการทำงานกรรมาธิการอย่างไรบ้าง และต้องไปตรวจสอบอีกว่าคณะกรรมาธิการกี่ชุดที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย และประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤตมิชอบ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ในส่วนของตนบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะถ้าเป็นการเชิญหน่วยงานหัวหน้าส่วนราชการมาชี้แจงก็ยังสามารถประสานงานกับรัฐมนตรีให้ดำเนินการสั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯได้ แต่จะเป็นปัญหากรณีเชิญภาคเอกชนมาชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่คณะกรรมาธิการฯอาจจะดำเนินการได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งเรียกตามกฎหมายแล้ว ซึ่งจะทำให้การสรุปข้อเท็จจริงทำได้ไม่สมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ดังกล่าว แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 129 ยังให้อำนาจคณะกรรมาธิการในการทำงาน โดยคณะกรรมาธิการมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้ แต่การเรียกนั้นมิให้ใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดี หรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจโดยตรงในแต่ละองค์กรตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ