พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า การชุมนุมในวันนี้ได้รับรายงานใน 4 จุด ด้วยกัน ได้แก่ บริเวณแยกเกษตร-หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ-ใต้สะพานภูมิพล-MRT กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ผู้ชุมนุมยังอยู่บริเวณฟุตบาท
สำหรับแนวทางการพิจารณาปิดเส้นทางจราจรหรือระบบขนส่งสาธารณะ จะเน้นความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยจะพิจารณาไปตามสถานการณ์
"การปิดการจราจรใกล้พื้นที่ชุมนุม 4 จุด จะพิจารณาไปตามสภาพ บางทีมีผู้ชุมนุมจำนวนมากก็ปิดไปโดยปริยาย แต่ยังไม่ปิดระบบรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที"
ในส่วนระบบขนส่งสาธารณะ ไม่มีการปิดให้บริการทั้งรถไฟฟ้า รถใต้ดิน แอร์พอร์ต ลิงก์
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. เปิดเผยว่า การดูแลความสงบเรียบร้อยการชุมนุมนั้น ทางตำรวจจะประเมินตามสถานการณ์ โดย บช.น.เตรียมกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชนหลัก 12 กองร้อย รวมทั้งหมด 1,860 นาย ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย และ พล.ต.ต.พีระพงศ์ วงษ์สมาน รอง ผบช.น. โดยเน้นการเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วในการเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่มีการชุมนุม และป้องกันมือที่สามก่อความไม่สงบเรียบร้อย
นอกจากนี้ ขอย้ำเตือนมายังพี่น้องประชาชนว่า การบังคับใช้กฎหมายในช่วงเวลานี้กับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นไปตามกฎหมายภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม. ซึ่งใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มิใช่ช่วงสถานการณ์ปกติ จึงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์อันก่อให้เกิดความไม่สงบใด ๆ ทั้งสิ้น
ส่วนการนำเสนอข่าวสารไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพคลื่อนไหว อันจะเป็นการปลุกปั่นหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางโซเซียลมีเดีย ที่มีการชักชวน เชิญชวน เข้ามาชุมนุมอาจมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้โซเซียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย