รัฐบาล-ส.ว.หนุนใช้เวทีสภาฯ แก้ปัญหาแทนลงถนน เตือนม็อบเลิกขู่-กดดัน

ข่าวการเมือง Tuesday October 20, 2020 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้จะหารือถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เพื่อเปิดให้ ส.ส.และส.ว.แสดงความคิดเห็นและข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและลดความขัดแย้ง ซึ่งหลายฝ่ายก็เห็นพ้องกัน รวมถึงนายกรัฐมนตรีก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าพร้อมสนับสนุนให้เปิดสภาฯ

ทั้งนี้ หากมีการอภิปรายก็อยากได้ความเห็นที่เป็นข้อสรุปรูปธรรม รวมถึงควรมีคณะทำงานหรือ กมธ.ขึ้นมาเพื่อให้เป็นเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง จะได้แสวงหาทางออกของประเทศร่วมกัน โดยประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภาและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นข้อดี เพราะรัฐสภาควรทำหน้าที่หาทางออกให้กับประเทศ และก็น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของสังคม

ส่วนกรอบระยะเวลาเห็นว่าควรเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปที่รวดเร็วที่สุด แต่ต้องอยู่ภายใต้กฏหมาย

สำหรับข้อเสนอให้รัฐบาลควรยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ครม.ได้เคยหารือกันเรื่องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีความเห็นว่าฝ่ายความมั่นคงจะเป็นผู้พิจารณา โดยจะใช้เท่าที่จำเป็น และในเงื่อนเวลาที่จำเป็นเท่านั้น โดยฝ่ายความมั่นคงร่วมกับนายกรัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจอย่างเหมาะสมที่สุด

นายจุรินทร์ ยืนยันว่า เงื่อนไขการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือ การประกันรายได้พืชผลเกษตรกร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวเห็นว่าในช่วงเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ หากนำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาด้วยได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะควรดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

ขณะที่นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิปการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า การประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองเมื่อวานนี้ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรที่จะมีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเพื่อใช้เวทีสภาฯในการพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 165 ซึ่งวันนี้นายกรัฐมนตรีจะขอความเห็นชอบจาก ครม.

นายอนุชา ระบุว่า เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุว่าจะเปิดประชุมในช่วงวันไหน เนื่องจากมีขั้นตอนในการออกพระราชกฤษฎีกาฯ แต่ส่วนตัวคาดว่า 1-2 วันก็น่าจะเพียงพอเห็นว่าจะไปในทิศทางไหน

ส่วนประเด็นที่รัฐบาลอยากใช้เวทีสภาฯในการช่วยคลี่คลายปัญหาใดเป็นหลักหรือไม่นั้น นายอนุชา ระบุว่า จะต้องพูดคุยกัน เพราะทุกปัญหาจะนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา หากผู้ชุมนุมยังคงยืนยันที่จะให้ทำตามข้อเรียกร้องทั้งสามข้อนั้น ถือเป็นความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งจะต้องนำมาสู่การพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ส่วนประเด็นอื่นจะเป็นข้อคิดเห็นและเสนอแนะ รวมทั้งเสียงสะท้อนปัญหาต่างๆ

"การเรียกร้องในสังคมประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่หากเป็นการบังคับหรือขู่เข็ญ ผมว่าไม่น่าใช่เรื่องที่ถูกต้อง" นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า ขณะที่จุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของแต่ละพรรคมีอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรนำสถาบันมาเกี่ยวข้อง จึงไม่ควรแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ จึงฝากไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่า รัฐบาลพยายามทำเพื่อประเทศชาติ เรื่องทั้งหมดต้องพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน โดยความเห็นต่างไม่ได้ผิดและอยากให้ใช้เวทีสภาหาทางออก แต่หากยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ก็ต้องค่อยๆว่ากันและหาวิธีที่จะมีบทสรุปที่ดีด้วยสันติวิธีตามระบอบประชาธิปไตย ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดเพื่อให้ปัญหาจบลงด้วยการพูดคุย

"ถ้าเราคิดว่าการเรียกร้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าอีกฝ่ายเรียกร้องก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องร่วมกัน นี่คือประชาธิปไตยที่ความเห็นหลากหลายได้ จะไปบังคับให้ทำไม่ได้ จึงอยากฝากกระบวนความคิดนี้ไปถึงนักศึกษาด้วย" นายอนุชา กล่าว

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.กล่าวว่า การเปิดประชุมสมัยวิสามัญของรัฐสภาเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไม่เดินไปเจอทางตัน การให้ฝ่ายค้าน รัฐบาล และ ส.ว.ใช้เวทีรัฐสภาแสดงความเห็นดีกว่าการใช้เวทีอื่นที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือการใช้ความรุนแรง หรือการรัฐประหารดังเช่นปี 2557 ซึ่งเป็นบทเรียนว่าหากทางออกในสภาเดินต่อไปได้ ความขัดแย้งหรือการลงถนนก็จะคลี่คลายลง ทั้งนี้คาดว่าน่าจะใช้เวลาประชุมประมาณ 2 วัน

ส่วนกรณีที่ประชาชนอาจขาดความเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาหลังไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายสมชาย กล่าวว่า เป็นแค่คนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่น พร้อมย้ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลา ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยากล้มก็ล้มเลย ต้องกลับไปถามประชาชนอีก 60 กว่าล้านคนว่าเห็นด้วยหรือไม่

"จุดอ่อนของกฎหมายสามารถแก้ไขได้ แต่จะแก้ประเด็นใดเพื่อผลประโยชน์ของใครยังไม่มีความชัดเจน ไม่ใช่ว่าไม่พอใจก็จะร่างใหม่ทั้งหมดเหมือนเป็นการเล่นเกมหรือไม่ และเมื่อแก้เสร็จก็จะมีมวลชนที่ต้องการอีกอย่างออกมาเคลื่อนไหวอีก ดังนั้นเราต้องยึดหลักการของกฎหมายควบคู่ไปกับการรับฟังของผู้เห็นต่าง โดยเอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก ไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด" นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะกดดันให้ ส.ส.รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ส.และ ส.ว.มีวุฒิภาวะต้องตัดสินใจตามข้อเท็จจริง ยึดประโยชน์ของประเทศชาติ การรับหรือไม่รับหลักการเป็นเอกสิทธิ์ และอย่าเพิ่งคิดไปไกลว่าจะไม่รับหลักการ แต่ยืนยันว่าขณะนี้ได้ศึกษารายละเอียดไปไกลแล้ว ส่วน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎรนั้น 2 ข้อแรกไม่น่าจะมีปัญหา แต่ข้อที่ 3 เรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ต้องดูเรื่องความเหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ