นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ เพราะมีแนวโน้มว่าการบริหารจัดการปัญหาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยิ่งนำพาไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากถ้อยคำ การกระทำ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นการราดน้ำมันลงไปในกองเพลิง ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมและยั่วยุให้สถานการณ์ต่างๆ ยุ่งยากมากขึ้นไปอีก
ญัตติของรัฐบาลเป็นญัตติที่ไม่สร้างสรรค์ มีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทยให้ขยายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ การตั้งญัตติเช่นนี้จะซ้ำเติมสถานการณ์ให้บานปลาย ไม่สามารถเป็นทางออกของสังคมไทยได้
"สถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงวันนี้ ประเด็นข้อเรียกร้องล้วนเกิดมาจากเงื่อนปมที่ผูกไว้โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ขาดความชอบธรรมตั้งแต่การเข้ามาสู่อำนาจ สร้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจของตน มากกว่าเป้าประสงค์ที่รัฐธรรมนูญควรจะเป็น นั่นคือ สิทธิความเป็นธรรมที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ" นายสมพงษ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินตลอด 6 ปีที่ผ่านมาชี้ชัดว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำที่ล้มเหลว ไร้ความสามารถ บริหารประเทศด้วยนโยบายที่ผิดพลาด เพราะเริ่มต้นการเข้าสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม จากกฎกติกาที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อสืบต่ออำนาจของตนเอง และเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องของตนเป็นหลัก ทำให้ผลงานในการบริหารประเทศไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จนต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องโดยสันติอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนาคตของพวกเขา จนกระทั่งเกิดเหตุที่ไม่ควรจะเกิดภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงของนายกรัฐมนตรีให้มีการกระทำรุนแรง สลายการชุมนุมของประชาชนผู้บริสุทธิ์เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งมีผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง ตั้งข้อกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความวิตกกังวลของประชาชนและประชาคมโลก ซึ่งไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการรุนแรงและเลือกปฏิบัติต่อนักเรียน นักศึกษา ประชาชน อีกหรือไม่
หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้คือ กำลังก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม และการยืนกรานของนายกรัฐมนตรีในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ยึดติดกับอำนาจที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรม ใช้กลไกมาตรการของรัฐมาควบคุม คุกคามประชาชนในทิศทางที่ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ไม่ให้พื้นที่ ไม่เปิดโอกาสในการรับฟังเสียงของประชาชน ที่มีสิทธิในฐานะพลเมืองของชาติ เป็นแนวทางที่ยิ่งขยายความขัดแย้ง ความรุนแรง จนไม่สามารถสร้างโอกาส และทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาของชาติ
หลายปีที่นายกรัฐมนตรีปกครองบริหารประเทศทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ขยายช่องว่างระหว่างประชาชนมากขึ้น ขณะที่ปัญหาพื้นฐานด้านเศรษฐกิจตกต่ำจนไม่สามารถคาดเดาอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้ ปัญหาการศึกษาที่มุ่งแต่การกดหัว ใช้อำนาจกระทำต่อนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในสถานศึกษา โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ครู อาจารย์ ผู้บริหารรับฟังปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนในฐานะหุ้นส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากระบบการศึกษา ไม่ได้สร้างบรรยากาศของการยอมรับกันในฐานะมนุษย์ที่เป็นพลเมืองแห่งอนาคต ปัญหาด้านแรงงานที่ขาดหลักประกันด้านสวัสดิการสังคม และปัญหาอื่นๆ ที่สืบเนื่องเชื่อมโยงกันจนปะทุกลายเป็นกระแสเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลต้องรับฟัง และตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริง หลังจากต้องทนทุกข์ภายใต้การกดทับของกลไกอำนาจของรัฐบาลมาอย่างยาวนาน
"การเผชิญสภาพเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้ผู้ที่มีประสบการณ์เฉพาะด้านการทหาร อย่างพลเอกประยุทธ์มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งที่มาจากความคิดและการกระทำที่เป็นเผด็จการ เพราะพวกท่านไม่อาจเข้าใจว่าจะสร้างสรรค์นโยบาย ขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจ แก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด พวกท่านไม่เข้าใจประชาชน และไม่เคยคิดถึงความทุกข์ของประชาชน เพราะท่านไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง แม้จะกล่าวอ้างว่าพวกตนมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่ท่านสมคบกันตอกหลักสร้างฐานอำนาจให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ออกแบบอย่างซับซ้อน ซ่อนกลไกเพื่อทำลายหลักการประชาธิปไตยที่พึงมี แค่เป้าหมายสูงสุดของพวกท่านคือร่วมกันสืบทอดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ" นายสมพงษ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เคยเข้าใจประชาชน ไม่ใส่ใจรับฟัง ไม่คิดถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่ออนาคตของชาติ คือ การที่รัฐบาลออกมาแถลงข่าวบอกปัดไปวันๆ อ้างว่าได้ใช้หลักการควบคุมดูแลฝูงชนตามหลักสากล แต่ไม่เคยยอมรับว่า มาตรการที่รัฐบาลใช้กับประชาชนของตน เป็นมาตรการแบบก้าวกระโดดที่รุนแรง และนำออกมาใช้เกินกว่าเหตุ จนสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก มาตรการรุนแรงเช่นนั้นเกิดจากความกลัวและความเกลียดชังประชาชนของตน มากกว่าจะเอาใจใส่ถึงความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา เยาวชนที่โดยหลักแล้ว รัฐต้องให้ความคุ้มครอง ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของพวกเขา สิ่งที่ปรากฏคือ พวกเขาถูกความทุกข์ทับถม จนต้องออกมาแสดงตัว แสดงความเห็น และเสนอข้อเรียกร้องที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหลากหลายมิติ
"การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในวันนี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย การแสดงออกซึ่งความคิดและมุมมองทัศนะที่มีต่อสังคม ความคิดเห็นต่างๆ ต่อข้อเสนอและแนวคิดที่ถูกนำเสนอออกสู่สาธารณชนนั้น ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ถึงความเหมาะสม ความถูกต้อง และร่วมกันหาทางออกให้ประเทศอย่างเปิดเผย ไม่ใช่เพียงการซื้อเวลา ออกมากล่าวหาและบอกปัดอย่างไม่ตระหนักถึงปมรากปัญหาที่แท้จริง" นายสมพงษ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า ภาพที่สะท้อนออกมาต่อท่าทีการจัดการปัญหาของรัฐบาลคือทัศนคติที่คับแคบ ถือตนเป็นใหญ่ ไม่เห็นหัวประชาชนอยู่ในสายตา เพราะความคิดแบบนี้ รัฐบาลจึงเลือกใช้วิธีจัดการกับผู้เห็นต่างด้วยการปราบปราม จับกุมคุมขัง จนถูกประณามคัดค้านจากผู้รักประชาธิปไตยและผู้ที่มีใจเป็นธรรมทั้งในและนอกประเทศ
การแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศต้องไม่ใช่การใช้กำลังประทุษร้าย หรือการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง และยั่วยุให้เกิดการปะทะกัน เพราะการใช้กำลังสลายการชุมนุม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นมาตรการที่เกินเลยจากสถานการณ์และความเป็นจริง การใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ไม่เท่าเทียมกัน เป็นสองมาตรฐานในการเอาผิดกับประชาชนผู้เห็นต่าง หรือแม้กระทั่งการสั่งปิดสื่อมวลชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ล้วนเป็นการกระทำที่จะสร้างแรงกดดันเพิ่ม ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะที่ยากต่อการควบคุม และรัฐบาลอาจหยิบฉวยสถานการณ์นั้นมาต่อยอดอำนาจของตนให้มากขึ้นอีก ซึ่งเป็นภาวะที่พวกเราทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น และยอมรับไม่ได้
ทั้งนี้ ตนเองมีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาและหาข้อสรุปในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้
1.ต้องพิจารณาข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนอย่างจริงจัง เปิดใจรับฟังแต่ละปัญหาที่นำเสนอ อย่างมีวิจารณญาณ
2.ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ไม่เตะถ่วงหรือดึงเวลาให้ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์วิกฤติที่กำลังบานปลาย ต้องเร่งพิจารณาต้นเหตุสำคัญของปัญหา โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ
3.ต้องเร่งปลดเงื่อนไขที่เป็นมูลเหตุของวิกฤต เร่งปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขัง จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง โดยเร็ว ปลดเงื่อนไขที่จะทำให้สถานการณ์บานปลาย ยุติการปิดกั้นสื่อ เปิดช่องทางการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และยุติการใช้กฎหมายที่ดำเนินคดีกับประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาล โดยเร็วที่สุด
4.ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก
"เพราะท่านคือ อุปสรรคสำคัญ ที่เป็นภาระของประเทศ หากท่านลาออกจะถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด และความล้มเหลวทั้งปวง ที่ได้กระทำลงไป" นายสมพงษ์ กล่าว