นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้ดำเนินคดีอาญากับอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค เนื่องจากกรณีการกู้เงิน 191.2 ล้านบาทจากหัวหน้าพรรค โดยนายปิยบุตร ตั้งข้อสงสัยถึงความเร่งรีบดำเนินการของ กกต.
"ถ้าจะอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้ว ศาลอาญาไม่ต้องพิจารณาเรื่องใหม่ ให้เข้าคุกอย่างเดียว มันจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นศาลอาญาไปโดยปริยาย"นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า ขบวนการเรื่องนี้ถือว่าขั้นตอนกลับตาลปัตรจากที่ควรดำเนินคดีอาญาก่อนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลายเป็นนำผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาดำเนินคดีอาญา โดยตีความว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความผูกพันทุกองค์กร
"ต้องต่อสู้กันใหม่ ไม่ใช่บอกว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเอามาดำเนินคดีอาญาใหม่ ไม่เช่นนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลปกครอง ไปโดยปริยายหรือไม่"
อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตร กล่าวยืนยันว่า พร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นมติอย่างเป็นทางการของ กกต.เพียงเห็นจากรายงานข่าวเท่านั้น
"ถ้าคนที่คิดยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิทางการเมือง เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมนั้น ขอให้รู้ว่าคิดผิด เพราะมันคือไฟลามทุ่ง ช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา เป็นการพิสูจน์แล้วเป็นไฟลามทุ่งจริง...การยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเหตุ 1 ในชนวนความไม่พอใจ เราจะเดินหน้าสู้กับนิติสงครามต่อไป ถ้าคิดว่าจะหยุดยั้งเราได้ คิดผิด" นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า กกต.ชุดนี้ถูกตั้งคำถามตลอดเวลาตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งว่ามีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก รวมไปถึงมาตรฐานการปฎิบัติงาน สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ การออกใบเหลือใบแดง การร้องทุจริตการเลือกตั้ง
"กกต.ชุดปัจจุบันถูกสังคมตั้งคำถามว่า จะมีไปทำไมหากกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ"นายปิยบุตร กล่าว
ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่สามารถหยุดยั้งการทำงานการเมืองของคณะก้าวหน้าได้ เป็นเพียงแค่เศษหินในรองเท้าเท่านั้น โดยทางกรรมการบริหารพร้อมจะเดินหน้าต่อไปอย่างหนักแน่น ไม่ท้อถอย
"คดีความหยุดยั้งเราไม่ได้ และไม่เป็นเงื่อนไขในการเจรจา หรือลดทอนข้อเรียกร้องของเรา"นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวอีกว่า การตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาก็ด้วยความหวังที่จะกอบกู้ภาพลักษณ์ของระบอบรัฐสภา ด้วยการนำเสนออุดมการณ์ให้ประชาชนพิจารณาเลือกเป็นตัวแทนเข้ามาทำงาน ไม่ใช่การใช้เงิน หรืออาศัยเครือข่ายของผู้มีอิทธิพล ซึ่งเราพยายามต่อสู้ท่ามกลางกฎกติกาที่เป็นอุปสรรค การสร้างพรรคการเมืองจึงต้องอาศัยเงินกู้ และการหารายได้จากการขายของที่ระลึก เพราะกว่าจะหาสมาชิกได้แต่ละคนไม่ใช่เรื่องง่าย
"เรามีเจตนาที่จะสร้างพรรคการเมืองที่โปร่งใส ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช้อำนาจเงินหรือเครือข่ายผู้มีอิทธิพล อยากถามว่าไม่อยากได้พรรคการเมืองแบบนี้กันหรือ" นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร ยังกล่าวถึงการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญฯ ว่า การอภิปรายของ ส.ว.และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลพยายามด้อยค่าการชุมนุมของคณะราษฎร โดยชี้ว่าข้อเรียกร้องนั้นทำไม่ได้ หรือต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งมองว่าเป็นแค่ข้ออ้างเท่านั้น หากมีเจตนาที่จะทำก็ไม่ต้องห่วง เวลาที่รัฐบาลอยากจะทำอะไรจริงๆ ก็ทำได้หมด ส่วนการตั้งตัวแทน 7 ฝ่ายเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น หากไม่นำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมาพิจารณาก็ไม่มีประโยชน์ เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาเท่านั้น
นายธนาธร ปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมและการล้มล้างสถาบันฯ เพราะต้องเข้าใจว่าเป็นการแสดงออกที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ หากไม่ยอมรับปัญหาจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง ทำให้เกิดการเลือกข้างชัดเจน
"เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังที่รัฐบาลหว่านเอาไว้กำลังเติบโต จากเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือกรณีแม่ค้าทำร้ายนักเรียน ทำให้การใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างมีความชอบธรรม"นายธนาธร กล่าว