สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ไม่สบายใจคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขอให้สนช.ชะลอการพิจารณากฎหมาย 5 ฉบับที่สนช.เสนอ เพื่อรอร่างกฎหมายที่รัฐบาลจะเสนอมาประกบ
ร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.การศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส 2.พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 3. พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน 4. พ.ร.บ.สัญชาติ 5. พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน มีเพียงร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.ในฐานะที่เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กล่าวว่า กรงว่าต่อไปรัฐบาลอาจจะใช้วิธีนี้กับกฎหมายอื่น แม้บางเรื่องจะเห็นด้วยที่รัฐบาลจะร่างกฎหมายขึ้นมาประกบ แต่กฎหมายบางฉบับทราบมาว่ายังอยู่ในขั้นตอนการยกร่างของกระทรวงมหาดไทยกว่าจะผ่านเข้า ครม., ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา และเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.อาจจะต้องใช้เวลาอีกนาน
นายวัลลภ กล่าวว่า จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณาร่างกฎหมายก่อนรับหลักการ และเปิดให้ลงคะแนนว่าที่ประชุมจะรับหลักการกฎหมายเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งหาก ร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้ไม่ผ่านการรับหลักการก็จะตกไป แต่ยังมีร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการจัดเตรียม ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีมากกว่า
ด้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิก สนช. ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ กล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจเช่นกันที่ ครม.ให้ชะลอการพิจารณาออกไป เพราะการร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ทางคณะกรรมาธิการได้ลงไปทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ หารือกับองค์กรสิทธิมนุษยชน ตัวแทนกรมการปกครอง และได้พิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาและปฏิญญาสากลระหว่างประเทศ ไม่ใช่การเปิดกว้างให้สัญชาติไทยกับคนต่างด้าวอย่างที่ ครม.ตั้งข้อสังเกต
ดังนั้น จึงขอใช้ข้อบังคับสภา ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาก่อนรับหลักการ เพื่อให้ที่ประชุมได้ทราบเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายนี้
ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.กล่าวว่า ตามข้อบังคับเมื่อรัฐบาลรับร่างกฎหมายไปพิจารณา 30 วัน แล้วมีคำตอบส่งกลับมาให้ สนช.ชะลอการพิจารณาบางฉบับนั้นเป็นเรื่องของการรอมชอมกัน แต่หากเจ้าของร่างคนใดไม่อยากชะลอก็ขอให้ทำหนังสือตอบกลับมาเพื่อจะได้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาใหม่
ส่วนคนใดเห็นว่ารอดีกว่าก็ไม่ต้องทำอะไร ให้รอจนกว่ารรัฐบาลจะส่งกลับมา ซึ่งตามตารางเวลากฎหมายใหม่ที่จะเสนอเข้ามาน่าจะต้องยื่นให้ทันภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้เพื่อจะได้ทันวาระการทำงาน สนช.ที่จะหมดภายในสิ้นปีนี้
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--