พรรคการเมืองร่วมวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มีหลายจุดต้องปรับปรุงแก้ไข

ข่าวการเมือง Wednesday August 15, 2007 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักการเมืองอาชีพต่างมุมมองวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 สนับสนุนให้มีการแก้ไขหลังเลือกตั้งใหม่ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 กับ 50 ไม่ได้ต่างกันมากนัก เพราะทั้งสองฉบับให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพ การถ่วงดุลนอกสภาเหมือนกัน แต่ที่ต่างกันคือรายละเอียดในทางปฏิบัติ 
"รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับให้อำนาจหลักที่สภา คือคงโครงสร้างของรัฐสภาไว้ แต่รายละเอียดที่มาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีกับ ส.ส.อาจไม่เหมือนกัน แต่วันนี้เหมือนมีการต่อสู้อย่างยิ่งใหญ่ 2 ขั้วเหมือนกับว่าเนื้อหาของร่างรธน.เป็นดินกับฟ้า ทั้งที่ 2 ฉบับไม่ได้แตกต่างกันมาก" นายอภิสิทธิ์ กล่าวในกการสัมมนา"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่:มุมมองของพรรคการเมืองและผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง" จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้ดีอย่างที่คุยแต่ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่กลัว เพราะที่ไม่ดีคือเรื่องสิทธิเสรีภาพ การเพิ่มอำนาจประชาชน ที่แม้จะมีบทบัญญัติให้สิทธิมีผลทันทีหรือการเข้าชื่อของประชาชน แต่ก็ไม่ดีถึงขั้นตอบโจทย์ว่าจะสามารถแก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 40 ได้ ดังนั้นในท้ายสุดแล้วต้องขึ้นอยู่กับประชาชนที่เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ว่าจะเคารพเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสังคมจะเข้มแข็งพอที่จะคอยตรวจสอบถ่วงดุลผู้ใช้อำนาจแค่ไหน
นายอภิสิทธิ์ ยังเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีการเปิดช่องในการสืบทอดอำนาจ เพราะไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก แม้เดิมจะพยายามให้เป็นเช่นนั้น แต่สุดท้ายก็สู้กระแสคัดค้ายภายนอกไม่ไหว ดังนั้นโดยรวมแล้วเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญปี 40 กับปี 50 จึงไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก
ด้านนายอรรคพล สรสุชาติ รองหัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวว่า พรรคประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เพื่อเรียกร้องให้ประเทศเข้าสู่บรรยากาศปกติ แต่ทุกพรรคต้องมีจุดยืนว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้วจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นใดบ้างในอนาคต โดยในส่วนของพรรค จะแก้ไขให้ ส.ว.ต้องมากจากการเลือกตั้งทั้งหมด
แต่ขณะนี้มีความพยายามจากผู้ไม่รับร่าง ซึ่งมีความล่อแหลมต่อการทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ว่ากระบวนการประชามติไม่โปร่งใส ถูกอำนาจรัฐแทรกแซง และนำมาสู่การสร้างประเด็นว่าการประชามติครั้งนี้ไม่ชอบธรรม
นายอรรคพล กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นขาวหรือดำ แต่อยากให้มองการรับร่างรัฐธรรมนูญคือ การลาดยางถนนเพื่อให้การเมืองเดินไปข้างหน้าอย่างราบเรียบ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ถนนข้างหน้าก็จะไม่สมบรูณ์ เป็นหลุมเป็นบ่อ
ด้านนายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ แต่สุดท้ายประเทศก็ต้องก้าวไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ และเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
อย่างไรก็ดี เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 50 หากเปรียบกับรถยนต์แล้วมีเรื่องที่ต้องแก้ 4 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรกยางบวม จากการที่เอาสายตุลาการมาทำหน้าที่ในการคัดสรรกลั่นกรององค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐมากเกินไป ปัจจุบัน ศาลสูงมีภารกิจมากอยู่แล้ว และหากศาลถูกวิจารณ์มากๆ ก็อาจเกิดวิกฤตได้ กรณีนี้จึงเปรียบว่าเอาล้อหลังมาใส่ล้อหน้า เมื่อรถวิ่งยางอาจระเบิดได้
ประเด็นที่สองคัทซีเอียง กล่าวคือ วุฒิสภามี 2 ที่มาคือจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ในส่วนของ ส.ว.ที่มาจากเลือกตั้งที่กำหนดให้มีจังหวัดละคนจะถูกวิจารณ์ได้ว่าเพราะจังหวัดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน เหมือนงานเล็กงานใหญ่ใช้น็อตตัวเดียว
ประเด็นที่สามแผงหน้าปัดมัว การให้มี ส.ส.ระบบสัดส่วนแบ่งเป็น 8 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ ไม่รู้ว่าใช้หลักเกณฑ์ใดวัด การแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัดก็ไม่มีความผูกพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ทำให้การรับผิดชอบทางการเมืองในพื้นที่ไม่ชัดเจน เปรียบได้กับหน้าปัดรถที่ไม่ชัดทำให้ความรับผิดชอบทางการเมืองไม่ชัดเจน
ประเด็นที่สี่รถไม่มีกล่องฟิว กล่าวคือการให้ศาลเสนอกฎหมายเองได้ อาจทำให้ศาลต้องไปล็อบบี้นักการเมือง
"เหตุผล 4 อย่าง แม้จะทำให้รถคันนี้สตาร์ทติด เพื่อให้รถไต่จากปากหลุม แต่อย่าวิ่งนาน ต้องรีบจอดเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า และพรรคชาติไทยก็ประกาศชัดว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญแต่ต้องมีการแก้ไขภายหลัง" นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำกลุ่มไทยรักไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีที่มาไม่ชอบธรรม เป็นเผด็จการ เนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ส่งเสริมการสืบทอดอำนาจ
"ที่บอกให้รับไปก่อนแล้วค่อยแก้นั้น ไม่สมเหตุผล หลังการทำประชามติ ปัญหาต่างก็ยังอยู่เยอะ ที่สำคัญคือ ถ้ารับแล้วแก้ยากแน่นอน ผมมองว่ามันจะรอวันถูกฉีกอีกครั้งจากผู้ยึดอำนาจกลุ่มใหม่ที่จะอ้างว่าการทุจริตมีมาก การตรวจสอบไมได้ผล พรรคการเมืองและรัฐบาลอ่อนแอ" นายจาตุรนต์ กล่าว
พร้อมเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ก็ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 49 เขียนไว้แล้ว ดังนั้นต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาปรับแก้และให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการและการยึดอำนาจ โดยเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งหน้าประชาชนจะตื่นตัวมากกว่าเดิม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ