ปธ.กลุ่มธนาคารโลกเชื่อมั่นประเทศกลุ่ม EAS จะเป็นภูมิภาคแรกที่หลุดพ้นโควิด-19

ข่าวการเมือง Saturday November 14, 2020 21:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 15 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมจำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานกลุ่มธนาคารโลก และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย

นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นการกำหนดทิศทางและทบทวนความร่วมมือร่วมกัน รวมถึงบทบาทของ EAS ในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อหาแนวทางการตอบสนองและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

เลขาธิการสหประชาชาติยินดีที่ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการเรื่องโควิด-19 และมีการรับมือที่ดี แต่โควิด-19 ส่งผลกระทบกับในวงกว้างหลายมิติ ทุกประประเทศจึงต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น การพัฒนาวัคซีนให้ทุกคนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ UN ได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั่วโลก นอกจากนี้ ปัญหาที่ต้องเผชิญร่วมกัน ยังมีอีกหลายประเด็น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างการพัฒนา

ประธานกลุ่มธนาคารโลก ยินดีที่ได้ร่วมมือกับทุกประเทศในการรับมือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจถดถอย และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีภัยคุกคามรวมถึงความท้าทายด้านความมั่นคงที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ธนาคารโลกได้จัดสรรเงิน ช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี สนับสนุนการรับมือโควิด-19 ยินดีที่ประเทศ G20 มีนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารการจัดการภาระหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารโลกพยายามอย่างสูงที่จะลดภาระให้กับประเทศเหล่านี้ ทั้งนี้ ประธานกลุ่มธนาคารโลกเชื่อมั่นว่าประเทศกลุ่ม EAS จะเป็นภูมิภาคแรกที่หลุดพ้นจากโควิด-19 ท่ามกลางความท้าทายธนาคารโลกยังคงเชื่อว่าทุกประเทศจะรับมือ และสู้กับโควิด-19 ไปด้วยกันได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 15 ปีของ EAS โดยที่ผ่านมา ทั้ง 18 ประเทศ ได้ใช้กลไกของ EAS ในการหารือประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการเสริมสร้างสันติภาพที่ถาวร และความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค ทั้งนี้ EAS มีความสำคัญในฐานะที่เป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและสร้างความสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมในการแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง ในขณะเดียวกัน ยังคงสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค

โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เน้นย้ำหลักการของการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกภูมิภาคผ่านเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) โดยได้ระบุสาขาความร่วมมือที่ทุกประเทศสามารถได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ อาเซียนขอเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ขยายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเล และการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยไทยพร้อมที่จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือดังกล่าว เพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนในภูมิภาค

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยมุ่งมั่นที่จะสานต่อการเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยจะมุ่งสานต่อการส่งเสริมความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 กับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 รวมทั้งการนำถ้อยแถลงของผู้นำ EAS ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

ในบริบทของโควิด-19 นายกรัฐมนตรีเสนอให้จัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญเร่งด่วน ได้แก่ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยใช้ประโยชน์จากกลไกและศูนย์ต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลและสร้างมาตรฐานด้านดิจิทัลร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างครบวงจร รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ