นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ประกาศผลการนับคะแนนในการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ปรากฎว่าที่ประชุมฯ มีมติรับหลักการวาระแรกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่เสนอโดยฝ่ายค้าน และฉบับที่ 2 ที่เสนอโดยรัฐบาล ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 3, ฉบับที่ 4, ฉบับที่ 5, ฉบับที่ 6 ของฝ่ายค้าน และ ฉบับที่ 7 ของภาคประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มราษฎรเรียกร้อง ถูกปัดตกไปทั้งหมด
สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขฯ ฉบับที่ 1 ของฝ่ายค้าน คือ เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ส่วนฉบับที่ 2 ของรัฐบาลเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และแต่งตั้ง 50 คน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายชวน กล่าวว่า การนับคะแนนเสียงว่าร่างฯ ฉบับใดผ่านจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 366 เสียง และใน 366 ต้องมีเสียง ส.ว.อย่างน้อย 82 เสียง
สำหรับฉบับที่ 1 ได้รับเสียงสนับสนุน 576 เสียง เป็นของ ส.ส. 449 และ ส.ว.127 ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย 21 เสียง และงดออกเสียง 123
ฉบับที่ 2 ได้รับเสียงสนับสนุน 647 เสียง เป็นของ ส.ส. 471 และ ส.ว.176 ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย 17 เสียง และงดออกเสียง 55
ฉบับที่ 3 ได้รับเสียงสนับสนุน 213 เสียง เป็นของ ส.ส. 209 และ ส.ว.4 ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย 35 เสียง และงดออกเสียง 472
ฉบับที่ 4 ได้รับเสียงสนับสนุน 268 เสียง เป็นของ ส.ส. 212 และ ส.ว.56 ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย 20 เสียง และงดออกเสียง 432
ฉบับที่ 5 ได้รับเสียงสนับสนุน 209 เสียง เป็นของ ส.ส. 209 และ ส.ว. 0 ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย 51 เสียง และงดออกเสียง 460
ฉบับที่ 6 ได้รับเสียงสนับสนุน 268 เสียง เป็นของ ส.ส. 209 และ ส.ว.59 ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย 19 เสียง และงดออกเสียง 432
ฉบับที่ 7 ได้รับเสียงสนับสนุน 212 เสียง เป็นของ ส.ส. 209 และ ส.ว.3 ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย 139 เสียง และงดออกเสียง 369
ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐสภามีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของ ส.ว. 15 คน และ ส.ส.30 คน ซึ่งในส่วนของ ส.ส. เป็นของพรรคเพื่อไทย 8 คน, พรรคพลังประชารัฐ 8 คน, พรรคภูมิใจไทย 4 คน, พรรคก้าวไกล 3 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน, พรรคเสรีรวมไทย 1 คน, พรรคประชาชาติ 1 คน และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน
คณะกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาในการแปรญัตติ 15 วัน โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 24 พ.ย. และจะใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา
ขณะที่เพจเยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวร่วมการชุมนุมของกลุ่มราษฎร โพสต์ข้อความว่า เป็นที่แน่นอนแล้วว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชนที่มีคนเข้าชื่อกว่า 1 แสนรายชื่อได้ถูกตีตกโดยรัฐสภา เหตุการณ์นี้แสดงให้เราเห็นกันอย่างชัดเจนแล้วว่า ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส่วนใหญ่) และสมาชิกวุฒิสภาต่างทำงานเพื่อค้ำจุนอำนาจของเผด็จการศักดินาและเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชนอย่างสิ้นเชิง
อีกทั้งยังปิดกั้นไม่ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ห้ามไม่ให้แก้ไขหมวดใดหมวดหนึ่ง หรือ มาตราใดมาตราหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ในเมื่อเป็นเช่นนี้สามารถทำนายอนาคตได้เลยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะร่างขึ้นนี้ไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เพราะวาระที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกปิดประตูไม่ให้ถกเถียงในชั้น ส.ส.ร