นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เผยผลหารือร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณารูปแบบโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ไปพิจารณามาแล้ว
โดยคณะกรรมการสมานฉันท์จะมีจำนวน 21 คน มาจาก 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ตัวแทนจากรัฐบาล 2 คน 2.ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน 3.ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน 4.ตัวแทนจาก ส.ว. 2 คน 5.ตัวแทนจากกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน 6.ตัวแทนจากกลุ่มผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน และ 7.ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน โดย 3 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ 4 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านปริงดองสมานฉันท์ และมีนายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
นายชวน กล่าวว่า เบื้องต้นใช้ชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนภายหลังก็สามารถทำได้ รวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ นั้นขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการฯ
นายชวน กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563
นอกจากนี้จะมีการพิจารณาญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบให้ส่งส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับ ที่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่