นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม วุฒิสมาชิก (ส.ว.) ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม รัฐสภา กล่าวถึงผลประชุมฯ ว่า ในการประชุมวันที่ 3 ธ.ค.นี้ กมธ.ได้เชิญตัวแทนของโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ฐานะผู้นำเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อขอข้อมูลและความเห็นในรายละเอียดว่าด้วยที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งเสนอที่มาของ ส.ส.ร.จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง รวมถึงคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการสมัครเป็น ส.ส.ร.
โดยที่ประชุมเห็นว่าแม้ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้นรัฐสภาจะลงมติไม่รับหลักการ แต่ในรายละเอียดสามารถรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาได้ นอกจากนั้นจะเชิญ นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้รายละเอียดของเจตนารมณ์ว่าด้วยมาตรา 256 ที่กำหนดรายละเอียดต่างๆ อาทิ เกณฑ์ให้มีเสียง ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 ร่วมลงมติรับหลักการวาระแรก, เกณฑ์ให้มีเสียงส.ส.ฝ่ายค้านร่วมลงมติในวาระสามไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เป็นต้น
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังหารือถึงข้อเสนอที่ให้มีบุคคลภายนอกร่วมเป็น กมธ.ที่ปรึกษา โดยมีข้อสรุปว่าบุคคลภายนอกจะให้เชิญเป็นรายประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องและ กมธ. ต้องการรับฟังความเห็นอื่นๆ อย่างไรก็ตามเหตุผลสำคัญที่ กมธ.ไม่ตั้ง กมธ.ที่ปรึกษาจากบุคคลภายนอกเพราะอาจทำให้การใช้องค์ประชุมกว้างขึ้น
โฆษก กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาของการพิจารณานั้น กมธ.กำหนดกรอบเป็น 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การแก้ไขมาตรา 256 ให้ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านและฝ่ายส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมีความแตกต่างกัน ทั้งการลงมติด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือใช้เสียงสามในห้า เป็นต้น,
2.ที่มาและจำนวนของ ส.ส.ร. , 3.กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.ควรมีกรอบอย่างไร อาทิ กรณีห้ามการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป, หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือ มาตราอื่นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่าด้วยพระราชอำนาจ, 4.วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างแก้ไขรัฐะรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน เสนอให้มีกรรมาการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะหนึ่งจำนวน 45 คน ประกอบด้วย ส.ส.ร. 30คนและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ขณะที่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้กำหนดไว้ จะมีรูปแบบอย่างไร,
5. การลงมติหลังจากที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ จะเสนอให้ ส.ส.ร.พิจารณาหรือไม่ และ 6.ว่าด้วยการทำประชามติ ซึ่งในรายละเอียดนั้นมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน เมื่อพิจารณาในเนื้อหาที่เสนอ
"บรรยากาศของการประชุมวันแรกเป็นไปด้วยดี ยอมรับว่ารอบเช้า กมธ.แต่ละคนตั้งการ์ดของตัวเองไว้สูง เพราะต้องการยืนยันคำอภิปรายของตนเองในที่ประชุมรัฐสภา แต่เมื่อรอบบ่ายเมื่อได้พูดคุยกันมากขึ้น ทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี อย่างที่หลายฝ่ายมองว่า ส.ส.ฝ่ายค้านจะฉะ ส.ส.รัฐบาลว่าด้วยข้อเสนอห้ามแก้ไขมาตราละเอียดอ่อนนั้น พอได้หารือร่วมกันแล้ว ทุกฝ่ายร่วมเดินไปด้วยกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน"นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว