"สดศรี"โวยกำหนดวันเลือกตั้งยังไม่ผ่านการปรึกษาพรรคการเมืองอาจมีปัญหา

ข่าวการเมือง Monday August 27, 2007 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ออกมาแสดงความไม่พอใจกรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ออกมาแถลงผลหารือเกี่ยวกับการกำหนดให้วันที่ 23 ธ.ค.50 เป็นวันเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ได้เป็นมติของ กกต.และฟังความเห็นจากทุกพรรคการเมืองก่อนซึ่งอาจเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนปี 49
นางสดศรี กล่าวว่า ไม่ทราบว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 23 ธ.ค.นั้นเป็นมติของใคร เพราะได้เตือนฝากสื่อไปแล้วว่าควรที่ปรึกษากับพรรคการเมืองก่อน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 1/2549 ว่าการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดที่แล้วจัดขึ้นโดยไม่ปรึกษาพรรคการเมืองจนทำให้พรรคการเมืองเหล่านั้นไม่มีความพร้อมในการส่งสมาชิกเข้าลงเลือกตั้งและทำให้เกิดความเสียเปรียบ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ
"ถือว่ามติที่มีออกมาครั้งนี้เป็นของประธาน กกต.กับนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่มติของ กกต.ทั้งหมด"นางสดศรี กล่าว
หากทั้ง 2 ฝ่ายต้องการที่จะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.จริง ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะต้องมีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง เชื่อว่ากฎหมายลูกจะเสร็จมันตามกรอบเวลาและไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ก็ยังเป็นห่วงเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2549 ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตได้
"เรื่องที่ดิฉันเป็นห่วงอะไรมากเกินไป บางทีเขาก็อาจจะไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ คิดว่าไม่เป็นไร และเมื่อนายกรัฐมนตรีแถลงเป็นมติออกมาก็ถือว่าเป็นมติของ 2 ท่านที่กำหนดกันสองคน ถ้ามีการเบี้ยวจากพรรคการเมืองว่าเขาไม่รู้เรื่องด้วย แล้วหยิบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2549 ขึ้นมา ก็ต้องเตรียมแก้ปัญหากันต่อไป" นางสดศรี กล่าว
สำหรับวันที่ 23 ธ.ค.จะมีความเหมาะสมเป็นวันเลือกตั้งหรือไม่นั้น นางสดศรี กล่าวว่า มันมีเส้นตายอยู่แล้วเพราะเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 90 วัน ซึ่งต้องไม่เกินวันที่ 13 ม.ค.51 ดังนั้นหากมีการพูดคุยกับพรรคการเมืองก่อนก็น่าจะทันตามกำหนด เพราะหากเมื่อเราไปพุดคุยกับนักการเมืองแล้วมีปัญหาอย่างไรก็สามารถปรับแก้มให้อยู่ในกรอบเวลาที่สามารถขยับเขยื้อนได้อยู่แล้ว
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) คนที่ 1 กล่าวว่า การกำหนดวันดังกล่าวหากเป็นการกำหนดจุดยืนตามที่รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)เคยประกาศไว้ก็ทำได้ แต่การกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนต้องไปปรึกษาคนที่เกี่ยวข้องคือ กกต.และพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่กำลังเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองในขณะนี้จำเป็นต้องรอให้กลุ่มการเมืองต่างๆ จัดตั้งพรรคให้เรียบร้อยก่อนไม่เช่นนั้นประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ