นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กรณีอาศัยในบ้านหลวงหลังเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ว่า นอกจาก 5 ประเด็นที่พรรคฯ เคยแถลงไปแล้ว ยังมีประเด็นเพิ่มเติมคือ พล.อ.ประยุทธ์ ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งกำหนดว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ และใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายบ้านเมือง
กรณีที่มีการนำประเด็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยมาเป็นข้ออ้างในการใช้บ้านพักในค่ายทหารนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะตามระเบียบบ้านพักราชการเมื่อเกษียณอายุแล้วก็จะไม่ได้อยู่ในบ้านพักต่อ อีกทั้งการรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพบก และไม่ได้มีการร้องขอจากนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ไม่ได้มีเหตุการณ์ใดที่จะเกิดอันตรายกับ พล.อ.ประยุทธ์
ขณะที่ในอดีตที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีคนอื่นทีดำรงตำแหน่งระหว่างที่มีการชุมนุมก็พักที่บ้านของตัวเอง และสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคท้าย กำหนดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ
"คำวินิจฉัยนี้จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่า ข้าราชการเกษียณอายุราชการไปแล้วสามารถอยู่บ้านหลวงฟรีได้ ใช้น้ำประปาฟรีได้ ใช้กระแสไฟฟ้าฟรีได้หรือไม่" นายประเสริฐ กล่าว
หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นโทษต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องตรวจสอบต่อไปว่าปัจจุบันยังมีข้าราชการเกษียณคนอื่นอีกหรือไม่ที่ยังอยู่บ้านพักหลวง หากพบก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่หากคำวินิจฉัยเป็นคุณต่อนายกรัฐมนตรีก็ต้องดูคำวินิจฉัยว่าสามารถนำประเด็นใดไปอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อได้หรือไม่
เลขาธิการ พท.กล่าวว่า กรณีนี้หากเปรียบเทียบกับกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นลูกจ้าง รับเงินจากบริษัทที่เป็นนายจ้างเกิน 3,000 บาท ซึ่งเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184(3) ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายที่อยู่บ้านพักหลวงตั้งแต่เกษียณถึงปัจจุบัน คาดว่าน่าจะเกิน 1 ล้านบาท จึงมีความผิดในรัฐธรรมนูญมาตร 184(3) เช่นกัน