น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติตั้งคณะกรรมการสืบสวนคณะก้าวหน้าดำเนินกิจกรรมคล้ายพรรคการเมือง ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้คดีความข่มขู่และปิดปาก ทุกครั้งที่เราโดนแบบนี้ ก็ถือเป็นนิมิตหมายว่าเขากำลังประเมินว่าเรากำลังประสบความสำเร็จ เช่นในครั้งนี้ก็คงเห็นว่ามีโอกาสสูงที่คณะก้าวหน้าจะชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายจังหวัด จึงงัดมุกเดิมเอามาใช้ เพื่อประสิทธิภาพการหาเสียงช้าลง ทำให้ประชาชนไขว้เขวในการลงคะแนน
อย่างไรก็ตาม เรายืนยันว่าไม่อาจที่จะหยุดยั้งการเดินหน้าหาเสียงใน 42 จังหวัดที่เราส่งผู้สมัครได้ เพราะวันนี้ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง และคดีความที่เกิดขึ้นนี้มีแต่จะทำให้ประชาชนให้ความสนใจกับการหาเสียงมากขึ้น ซึ่ง กกต.ควรจะต้องขอบคุณคณะก้าวหน้าที่ทำให้ประชาชนตื่นตัวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับข้อกล่าวหานี้ ขณะที่ กกต.เองนอกจากขึ้นป้ายแล้ว แทบไม่เห็นงานประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งอื่นใดเลย
"เรายืนยันกับผู้สมัครและประชาชนทุกคนว่า เราทำตามกฎหมายทุกประการ เพราะสิทธิที่เราโดนตัดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีเพียง 3 เรื่อง คือ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตั้งพรรคการเมือง และแทรกแซงครอบงำพรรคการเมือง สิทธินอกเหนือจากนั้นยังอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในฐานะประชาชน สิทธิในการรวมตัว สิทธิในการแสดงออก ยังอยู่ครบทุกประการ และเราทุกคนขึ้นทะเบียนเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครทุกคน เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งก่อนนี้ก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว กรณีที่ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งได้ หากสุดท้าย กกต.ยืนยันเอาผิดจริงๆ ก็อยากทราบว่าใช้ข้อกฎหมายข้อใดมาเอาผิด" น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีหลายกลุ่มส่งผู้สมัครลงแข่งขัน เพราะข้อบังคับไม่ได้ระบุอยู่แล้วว่าต้องสังกัดพรรคการเมือง ดังนั้นกลุ่มต่างๆ ก็ส่งลงแข่ง ขณะที่คณะก้าวหน้าก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ส่งผู้สมัครลงในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งก็เป็นเรื่องทำได้ แต่ถ้าข้อบังคับระบุว่าพรรคการเมืองจะต้องส่ง ถ้าไม่ลงในนามพรรคการเมืองจะลงสมัครไม่ได้ แล้วคณะก้าวหน้าเราทำ อันนี้ต่างหากที่จะเป็นพฤติกรรมเข้าข่ายเลียนแบบพรรคการเมือง ดังนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรที่มีสารพัดกลุ่มทั่วประเทศไทยส่งเต็มไปหมด แล้วมีคณะก้าวหน้าเพียงกลุ่มเดียวที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งถ้ากล้าทำแบบนั้น ก็อยากรู้เหมือนกันว่าประชาชนจะมองเรื่องนี้อย่างไร
"อะไรที่ทำให้เรามีพฤติกรรมเหมือนพรรคการเมือง ถ้าเราตั้งกลุ่มขึ้นมาแล้วส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.อย่างนี้สิทำพฤติกรรมเหมือนพรรคการเมือง เพราะเราทำไม่ได้ เราไม่ใช่พรรคการเมือง จึงส่งผู้สมัคร ส.ส.ไม่ได้ แต่ตรงกันข้าม เราส่งผู้สมัครลงรับสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเราไม่ได้เป็นพรรค ซึ่งสามารถทำได้ เพราะโดยปกติ เลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่ต้องลงในนามพรรคการเมืองอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นแทนที่จะถามพวกเราว่า เราจะอธิบายตัวเองอย่างไรว่าเราไม่ได้ทำตัวเหมือนพรรคการเมือง ควรไปถาม กกต.กลับว่า เราทำอะไรเหมือนพรรคการเมือง อยากให้ลองไปเปิดนิยามของพรรคการเมืองดู ใจความสำคัญ คือ ต้องมีสมาชิกพรรค แต่สำหรับเราไม่มี และเป็นกลุ่ม ซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิรวมกลุ่มและขับเคลื่อนทางสังคม ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะเชียร์ผู้สมัครของตัวเองและเดินทางไปสนับสนุนผู้สมัครของตัวเอง" น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
สาเหตุที่ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติการณ์คล้ายพรรคการเมืองอาจมาจากการจัดองค์กรเหมือนพรรคการเมืองที่มีกรรมการบริหาร เลขาธิการ น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น สมาคมไร่อ้อยก็คงเป็นพรรคการเมือง"