ที่ประชุมรัฐสภาวานนี้มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอเพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเสียง 561 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 50 เสียง พร้อมทั้งตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาพิจารณา
ก่อนการลงมติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า หากเนื้อหาไม่เป็นที่พอใจก็เป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ซึ่งรัฐบาลไม่มีความหมองใจหากรัฐสภาจะแก้ไขเนื้อหาส่วนใดในชั้น กมธ.ฯ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กรณีที่ให้บทบาทคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่และรณรงค์ข้อมูลเรื่องที่ทำประชามติ คือ กำหนดให้เป็นหน้าที่ ส่วนบุคคลจะทำรณรงค์ไม่ห้ามให้กระทำ เพราะถือเป็นสิทธิที่จะเชิญชวนให้บุคคลแสดงความเห็น และไม่ถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 เว้นแต่เป็นพฤติกรรมที่ห้ามไว้ หากเนื้อหายังไม่ชัดเจน และคลุมเคลือสามารถแก้ไขให้ชัดเจนได้ รวมถึงการกำหนดให้ออกเสียงประชามติทางไปรษณีย์หรือออนไลน์
"ที่สมาชิกอภิปรายว่าเหตุใดที่การรับฟังความเห็นที่เปิดโอกาสให้ ครม.ใช้ดุลยพินิจเสนอเรื่องทำประชามติเท่านั้น เพราะร่างกฎหมายออกตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิไว้ แต่ไม่ได้ปิดทางหากมีความเห็นให้ทำประชามติจากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชน สามารถเสนอไปยังรัฐบาลได้ และหากไม่สามารถทำประชามติได้ กฎหมายกำหนดให้ทำในรูปแบบประชาพิจารณ์"นายวิษณุ กล่าว