นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวก่อนเข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งมีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานว่า iLaw ยังคงยืนยันหลักการว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยตรงจากประชาชน ซึ่งรูปแบบของการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่ iLaw เสนอนั้นเป็นรูปแบบคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ร.แบบกลุ่มและนโยบาย เพื่อให้ประชาชนเลือก ส.ส.ร.ตามนโยบายหรือวิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้สมัครเลือกตั้ง แทนการเลือก ส.ส.ร.จากตัวบุคคลเป็นหลัก
นายจอน กล่าวว่า ความจำเป็นที่ ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้สามารถรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้สมัคร ส.ส.ร.ได้ และไม่เห็นด้วยที่ ส.ส.ร.จะมาจากการแต่งตั้ง และไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญ เพราะ ส.ส.ร.มีหน้าที่เพียงสะท้อนความเห็นประชาชน แต่ กมธ.ฯ ที่จะมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้าไปทำหน้าที่ เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"ตอนที่เราเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่ 1 มีสมาชิกรัฐสภาวิจารณ์ว่าเราไม่ได้เปิดโอกาสให้คนระดับจังหวัดนั้นยืนยันไม่เป็นความจริง ในทางกลับกันระบบเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่เราเสนอเปิดโอกาสให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่สะท้อนความต้องการของตัวเอง เช่น กลุ่มสิทธิชุมชน เป็นต้น" นายจอน กล่าว
นายจอน กล่าวว่า ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่จำเป็นต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะเราต้องการให้ ส.ส.ร.เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่จะให้ผู้เชี่ยวชาญไปอยู่ในส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไปแทน
ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะต้องมีการจัดทำกฎหมายลูกหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของ กมธ.ฯ จะพิจารณาเอง แต่ย้ำว่า ตามร่างของประชาชนที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมายปฏิรูป เนื่องด้วยเป็นกฎหมายที่มาจาก คสช.มีไว้สำหรับเป็นกลไกแนวทางดำเนินการของรัฐบาลเลือกตั้งที่ คสช.ต้องการเห็น แต่มันไม่ใช่ประชาธิปไตย และเป็นมรดกของเผด็จการ เพราะการสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อำนาจเผด็จการต้องยกเลิกไปให้หมด
ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษก กมธ.ฯ กล่าวว่า การประชุมของ กมธ.ฯ วันนี้ได้เชิญ iLaw มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งเข้าใจว่าอาจมีบางเรื่องที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเมื่อครั้งมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ก่อนหน้านี้ จึงอยากให้มาแสดงความคิดเห็น เช่น การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่มีลักษณะคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ
นอกจากนี้ยังได้เชิญนายอุดม รัฐอมฤต ในฐานะอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาให้ความคิดเห็นและอธิบายถึงหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนตัวในฐานะฝ่ายค้านยังยืนยันว่า ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเท่านั้น ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งอีกแล้ว โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.อาจแบ่งเป็นการเลือกตั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ ส่วนญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ที่ขอให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นได้รับการประสานงานมาแล้วว่าญัตติดังกล่าวถูกชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งส่วนตัวขอเรียกร้องว่าไม่อยากเห็นภาพของการพยายามดึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ล่าช้า เพราะตอนนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขั้นตอนของ กมธ.ฯ แล้ว