นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 29/57 เรื่องเรียกคนมารายงานตัว และคำสั่ง คสช.ที่ 41/57 ถ้าไม่มารายงานตัวเป็นความผิด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น คำสั่ง คสช.ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2557 แต่ก็เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาตรา 279 รองรับการกระทำและการออกคำสั่งของ คสช. เพียงแต่ส่วนตัวเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญยื่นมือเข้ามาเพื่อให้ความคุ้มครอง โดยเฉพาะทำให้ตัวบทรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นบทเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ใช้ เพราะศาลฯให้เหตุผลเรื่องความไม่ได้สัดส่วนในการใช้โทษอาญามาลงกับคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.และการมีคำสั่งเรียกควรให้เหตุผลตามสมควร โดยเป็นการสะท้อนว่าศาลรัฐธรรมนูญพยายามเข้าไปคุ้มครอง
"ส่วนใหญ่จะมีคำถามต่อมาว่า คสช.ผิดหรือไม่ ควรได้รับการเยียวยาหรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ส่วนใหญ่ต้องดูว่ารัฐจงใจประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ มีลักษณะที่จะกลั่นแกล้ง หรือทำไปโดยไม่ดูดำดูดีกับคนทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องเรียกไม่มาแล้วไปจับ แต่หากคนบอกต้องทำให้หนีไปเช่าบ้าน ทนทุกข์ทรมาน ผมคิดว่าอาจจะยังอธิบายความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจงใจประมาทเลินเล่อร้ายแรงไม่ได้" นายอุดม กล่าว
ส่วนผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวหากจะฟ้องกลับก็สามารถทำได้ แต่อยู่ที่ศาลจะเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรได้รับการเยียวยาหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ได้กลับคืนมาคือคดีสิ้นสุดโดยไม่ต้องขึ้นศาล และผู้ที่อยู่ต่างประเทศสามารถเดินทางกลับไทยได้เพราะในความผิดเหล่านี้ไม่มีแล้ว