พีเน็ตเตือนอย่าเหลิงผลลงประชามติรับร่างรธน.ชี้มีหลายปัจจัยแฝง

ข่าวการเมือง Monday August 20, 2007 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) แนะรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) อย่ามั่นใจว่าคะแนนเสียงส่วนใหญ่ 56% ที่ประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น จะเป็นด้วยเหตุผลเดียวว่าประชาชนพึงพอใจต่อภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์แล้วเชื่อว่าเหตุผลที่ประชาชนลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ เช่น เห็นด้วยกับรัฐบาลและคมช., ไม่ชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งต้องการเปลี่ยนผ่านสถานการณ์บ้านเมืองจากความอึดอัดในปัจจุบันไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
"ดังนั้นฝั่งรับ(ร่างรัฐธรรมนูญ)ทั้งหมด 56% ผมคิดว่ารัฐบาลอย่าเพิ่งได้ใจ ว่านี่คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด แต่ว่าอาจมาจากหลายสถานการณ์" นายสมชัย ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุเช้านี้
ในขณะที่เชื่อว่าอีก 41% ซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น รัฐบาลก็ไม่ควรจะเหมารวมว่าเป็นฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยแวดล้อม เช่น ไมพอใจเนื้อหาบางส่วนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ต้องการให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมา หรืออาจเป็นฝ่ายต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและคมช. ก็เป็นได้
นายสมชัย ยังวิเคราะห์ถึงผลการออกเสียงประชามติในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นภาคที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่สูงสุดถึง 61% ในขณะที่ จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ เป็นเพียง 2 จังหวัดที่เห็นชอบว่า ผลการลงประชามติ จ.บุรีรัมย์ ถือว่าอยู่นอกเหนือความคาดหมาย ซึ่งผลที่ออกมาหากเป็นการเดินเกมทางการเมืองต้องถือว่าเป็นการวางหมากในชั้นเซียน
"ถ้าใครเป็นคนวางแผนเรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นหมากรุกชนิดเซียน หมายความว่าบุรีรัมย์คือเป้าล่อให้ทุ่มทรัพยากรทุกอย่างไปที่บุรีรัมย์ เพราะฉะนั้นกำลังทหาร กกต. ฝ่ายมหาดไทย ทุกคนลงไปที่บุรีรัมย์หมด ดังนั้นถ้าเหมือนกับการรบ ฝ่ายหนึ่งจะถูกล่อไปพื้นที่หนึ่ง ทำให้พื้นที่อื่นๆ ทำงานได้อย่างมีอิสระมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นจริง ผมคิดว่าหมากรุกตานี้ ฝ่าย ส.ส.ร.หรือรัฐบาล หรือคมช.จะเดินตามเกมในทางที่ผิด" นายสมชัย วิเคราะห์
กรรมการพีเน็ต มองว่า การลงประชามติของประชาชนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เนื่องจากเชื่อว่าประชาชนไม่มีโอกาสทำความเข้าใจต่อเนื้อหาสาระได้ภายในเวลาที่มีอยู่จำกัด แต่สิ่งที่ประชาชนใช้เปรียบเทียบและมีส่วนสำคัญกับการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยมาจากภาวะเศรษฐกิจของตัวเองในปัจจุบันที่เทียบจากรัฐบาลนี้กับรัฐบาลเก่า
"ถ้าคุณอยากได้ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนรัฐบาลที่แล้ว คุณไปช่วยโหวตไม่รับร่าง แค่ประโยคสั้นๆ ประโยคนี้ประโยคเดียว ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นความล้มเหลวในการสื่อสารกับประชาชนที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ การแพ้ประโยคสั้นๆ ประโยคเดียว เท่ากับงบประมาณต่างๆ ที่ประชาสัมพันธ์ลงไปไม่เกิดผลอะไร" นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ