รายงานข่าว แจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีสำคัญ กรณีที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ และนายวิรัช รัตนเศรษฐ กับคณะ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ... เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 5 และมาตรา 255 เนื่องจากกฎหมายไม่ให้สิทธิผู้ร้องยื่นเรื่องดังกล่าว
โดยนายณฐพร โตประยูร ระบุในคำร้องว่า ขอใช้สิทธิของปวงชนชาวไทยและสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องและคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจรณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 50 (1) และมาตรา 210 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ข้อ 6 ประกอบหลักกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
การกระทำของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ กับคณะ ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ..... จำนวน 2 ฉบับ เป็นการกระทำเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และ มาตรา 255 การกระทำดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....จำนวน 2 ฉบับดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 5 และมาตรา 255
หลังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม รวม 2 ครั้ง และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1)-(3) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ และหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงของประชาชน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรมนูญพิจรณาวินิฉัยไว้เฉพาะกรณีตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 213 โดยต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 47 หรือมาตรา 48 แล้วแต่กรณี ส่วนการยื่นคำร้องของผู้ร้องโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นกรณีอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 7 ด้วย โดยความใน (13) บัญญัติไว้ว่า คดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 50 (1) และมาตรา 210 วรรคหนึ่ง ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยกรณีตามคำร้องได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 กำหนดไว้ ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรมนูญจะรับไว้พิจรณาวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย