นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ให้ กกต.ตัดสินเรื่องจะให้สหภาพยุโรป (อียู) ลงบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อสังเกตการเลือกตั้งในไทยว่า ตนได้นำผลการหารือกับอียู รายงานให้ กกต.ทราบแล้ว และสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.ได้ อย่างเร็วในวันที่ 11 กันยายนนี้ ซึ่งเรื่องการทำเอ็มโอยูนั้นเรามองประเด็นต่างกัน
โดยในส่วนของไทยเห็นว่าการทำข้อตกลงดังกล่าวน่าจะเข้าลักษณะผูกพัน และเข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จะเป็นสนธิสัญญาและต้องขอความเห็นชอบจากสภา ซึ่งนักกฎหมายของไทยหลายคนก็มองเช่นนี้ แต่ทางอียูมองว่าไม่น่าจะเข้าข่าย แต่ต้องไม่ลืมว่าเวลาตีความ ฝ่ายกฎหมายไทยจะต้องเป็นผู้ตีความ
"ดังนั้น จึงคิดว่าในเมื่อมีทางเลือกอื่นที่มีปัญหาน้อยกว่า ก็น่าจะไปทางนั้น เพราะจากการพูดคุยกับอียู ก็เปิดช่องว่า หากไทยเห็นว่าการทำเอ็มโอยูไม่เหมาะสม และมีประเด็นความห่วงใย มีปัญหาในประเทศ จะเข้าเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ไทยก็สามารถเชิญกลุ่มประเทศในอียูให้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ โดยไม่เซ็นเอ็มโอยู และไม่เข้าโครงการก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ตนจะนำไปเรียน กกต.ให้พิจารณาด้วย" นายสุทธิพล กล่าว
ส่วนกรณีที่ทางพีเน็ตติงว่า กกต.ไม่ควรกลัวการทำเอ็มโอยู แต่ควรดูที่เนื้อหานั้น เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สิ่งที่ กกต.เป็นห่วงไม่ใช่เรื่องของการเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์ และถ้าจุดมุ่งหมายของเราต้องการให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีความชำนาญเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อให้ต่างประเทศยอมรับในกติกาของไทย และความสุจริตและโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้ง
"แนวทางที่เราจะเดินไปสู่จุดนี้ ในการที่จะได้มาซึ่งคณะผู้สังเกตการเลือกตั้งมีหลายแนวทาง หากแนวทางหนึ่งมีอุปสรรค ทางวิบาก แต่อีกแนวทางหนึ่งเราเดินไปมี free way ที่เราไปได้สบาย ๆ ทำไมเราไม่เลือกทางนั้น"เลขาธิการ กกต.กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--