นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ประกาศว่า หากได้เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะผลักดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้นทันที พร้อมคว่ำร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
"จะเรียกแบงก์ชาติหารือทันที เราเห็นว่านโยบายค่าเงินที่ใช้อยู่ไม่ได้ผล เพราะไม่สะท้อนความสมดุลทางเศรษฐกิจ เรายังพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กรณีดังกล่าวไม่ถือว่าการเมืองเข้าไปแทรกแซง หากรัฐบาลเข้าไปดูแลอย่างมีขอบเขต ไม่ได้เข้าไปทำให้นโยบายของ ธปท.ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงหรือเสียวินัย เพราะในที่สุดแล้วรัฐบาลก็ต้องร่วมรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของ ธปท.
หัวหน้าพรรค ปชป.คาดว่า รัฐบาลใหม่น่าจะเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งหาก ปชป.ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะขอดูแลในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจนั้นจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจนภายใน 3 เดือน โดยนโยบายเร่งด่วนจะมี 3 เรื่อง คือ การเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา โดยพรรคไม่สานต่อเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
"ถ้าไม่เสร็จก็ไม่ทำต่อและคิดว่าจะไม่เสร็จในรัฐบาลชุดนี้ เราจะใช้กฎหมายเก่าที่มีความชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ควรไปเปลี่ยนแปลง"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นโยบายเร่งด่วนลำดับต่อไป คือ การเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเร่งรัดการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คส์ 3 ด้าน วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ได้แก่ ลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะระบบราง 2 แสนล้านบาท, ลงทุนในระบบชลประทาน 1 แสนล้านบาทและลงทุนในระบบขนส่งอีก 2.5 แสนล้านบาท
"เงิน 5.5 แสนล้านบาทคิดว่าอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลใหม่น่าจะทำได้โดยไม่กระทบเรื่องภาระหนี้สาธารณะ"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
และนโยบายเร่งด่วนประการสุดท้าย คือ การพัฒนาด้านการศึกษา การสร้างเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน เพื่อเป็นรากฐานให้เศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่ง
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า สำหรับนโยบายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นจะดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจขั้นพื้นฐานที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยจะเข้าไปปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีลักษณะธรรมาภิบาลเพื่อให้ต้นทุนลดลง
นายอภสิทธิ์ ยังแสดงความเห็นกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) จะลงมาเล่นการเมืองหลังจากเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญการทหารบก(ผบ.ทบ.) ว่า ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบว่าสมควรหรือไม่ แต่ต้องเป็นการเข้าสู่การเมืองโดยสละทุกตำแหน่งเพื่อเข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ทำให้การเลือกตั้งเกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่โปร่งใส
"ถ้าท่านจะมาก็ต้องทำงานเหมือนนักการเมืองคนอื่นที่ไม่มีแต้มต่อ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนการร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่นนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะตอบในขณะนี้ เพราะยังไม่รู้ผลเลือกตั้งคงจะพูดไปก่อนไม่ได้ ยกเว้นเรื่องที่ประกาศจะไม่ร่วมงานกับพรรคพลังประชาชนเนื่องจากยังหมกหมุ่นกับเรื่องเก่า และการรักษาผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกพ้อง
"ยังเร็วเกินไปที่จะพูดตอนนี้เพราะยังไม่รู้ผลเลือกตั้ง...ถ้าเลิกปกป้องผลประโยชน์ของอดีตนายกฯและพวกพ้องก็ไม่มีปัญหา"นายอภิสิทธิ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่นหลังการเลือกตั้ง
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--