โฆษกรัฐบาล เผยเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้น เดินหน้ากระตุ้น-ฟื้นฟูต่อเนื่อง

ข่าวการเมือง Thursday February 4, 2021 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โฆษกรัฐบาล เผยเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้น เดินหน้ากระตุ้น-ฟื้นฟูต่อเนื่อง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้น ซึ่งภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ธ.ค.63 มีสัญญาณดีขึ้นในหลายๆ ด้าน ทั้งในส่วนของตัวเลขการส่งออกขยายตัวในรอบ 8 เดือนอยู่ที่ระดับ 4.7% การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศ ได้ประเมินมุมมองอนาคตเศรษฐกิจไทยในปี 64 โดยมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับ 1 จาก 17 ประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยประเมินจากปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ศักยภาพการดึงดูดเงินจากต่างประเทศ เป็นต้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปี 64 ส่วนสภาพคล่องมีเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ระดับเงินคงคลังมีเพียงพอต่อการรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และการดำเนินนโยบายต่างๆได้มีประสิทธิภาพ

โดยฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ธ.ค.63 อยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันปี 62 ประมาณ 49.5% ส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.63 อยู่ที่ 8.1 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 52.1% อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังไม่เกิน 60% และหนี้ที่เกิดขึ้นเกิดจากการไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดการจ้างงาน

ส่วนการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะมีการออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่องในปี 64 ซึ่งจะครอบคลุมประชาชนในหลากหลายอาชีพ โดยรวมถึงไปผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ด้วย

นอกจากนี้ ไทยมีดัชนีนวัตกรรมไทยขยับดีขึ้น โดยดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กประจำปี 2021 จัดอันดับไทยอยู่ที่ 36 จาก 60 เขตเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมมากที่สุด เป็นการปรับดีขึ้น 4 อันดับจากปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสามารถของไทยในการใช้นวัตกรรมฝ่าฝันวิกฤตต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อาทิ การตรวจคัดกรองโรค หุ่นยนต์ แอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงการกำหนดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวตกรรม และเศรษฐกิจ BCG หลังยุคโควิด-19

สำหรับ ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กประจำปี 2564 ประเมินจากปัจจัย 7 ด้าน ดังนี้ ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (R&D Intensity) 36 คะแนน มูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing value-added) 18 คะแนน สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากรผู้มีงานทำ (Productivity) 52 คะแนน สัดส่วนจำนวนบริษัท (high-tech) 33 คะแนน สัดส่วนผู้ที่เข้าศึกษา ผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและสัดส่วนบัณฑิตที่จบสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม (Tertiary efficiency) 30 คะแนน จำนวนนักวิจัย (Researcher concentration)45 คะแนนและจำนวนการยื่นขอสิทธิบัตร และสัดส่วนจำนวนสิทธิบัตรที่ได้รับ (Patent activity) 35 คะแนน ไทยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 65.42 คะแนน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ