นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่า หลักการที่สำคัญคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกลไกที่สำคัญในระบบประชาธิปไตย ที่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคือข้อกล่าวหา รัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาก็ต้องชี้แจง ข้อมูลของทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญ ฝ่ายค้านถ้าข้อมูลไม่ดี ไม่เป็นความจริงก็ต้องรับผิดชอบ ยุคสมัยนี้ข้อมูลสื่อสาร การรับรู้ที่รวดเร็ว ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน
"หลักการในการอภิปราย มีข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ชัดเจน สิ่งไหนพูดได้ สิ่งไหนพูดไม่ได้ ข้อที่ 69 สำคัญที่สุด คือการอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามไม่ให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่านให้ที่ประชุมฟังโดยไม่จำเป็น และห้ามไม่ให้นำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะอนุญาต ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น" นายราเมศกล่าว
พร้อมเชื่อว่า หากการอภิปรายยึดตามข้อบังคับดังกล่าว การตรวจสอบถ่วงดุลในครั้งนี้ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ตรงไปตรงมา มีความเป็นกลาง และด้วยข้อบังคับที่ระบุไว้ชัดหากมีการฝ่าฝืน มีการกล่าวถึงสถาบันโดยไม่จำเป็น ประธานสภาฯ ก็ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับ ทุกคนทุกพรรคต้องรู้ว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควร ก็จะเป็นผลดีต่อการอภิปรายหากยึดหลักการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์
ส่วนรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์พร้อมชี้แจง ไม่มีความหวั่นไหวใดๆ ทั้งสิ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ชี้ให้ฝ่ายค้านเห็นว่า รัฐมนตรีของพรรคนอกจากไม่มีการทุจริตแล้ว มีผลงานมากมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศ
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการอภิปรายนอกจากมีคณะทำงานด้านติดตามและสนับสนุนข้อมูล นำโดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ จะมีทีมสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ทีมงานทุกคนพร้อมเต็มที่