ส.ส.เพื่อไทย ชี้นายกฯ ล้มเหลวทำเศรษฐกิจตกต่ำสุดในภูมิภาค-ขาดดุลงบฯพุ่ง

ข่าวการเมือง Wednesday February 17, 2021 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวในการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่า ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดขึ้นต่อเนื่องมา 7 ปีแล้ว นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของต่างชาติทำให้ถูกกีดกันทางการค้า ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ เกิดความผิดพลาดในการบริหารงบประมาณจนส่งผลกระทบต่อระบบวินัยการเงินการคลัง สร้างภาระหนี้สาธารณะซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของต่างประเทศ เป็นรัฐบาลที่กู้เงินมากสุดในประวัติศาสตร์แต่เกิดประสิทธิภาพต่ำ ความสำเร็จในการบริหารนั้นสะท้อนให้เป็นจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ ได้แก่ รายได้ส่งออกหดตัว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

"ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการที่เราไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ต่างชาติไม่เชื่อถือและกีดกันทางการค้าผ่านกลไกต่าง...การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจไม่เกิดการหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดในการบริหารงาน" นายไชยา กล่าว

โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (เอดีบี) คาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยในปี 63 จะหดตัว -8% และมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค, ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าอาเซียนจะขยายตัว 5% แต่ไทยจะขยายตัวแค่ 2.7%, ธนาคารโลกมองว่าแม้ไทยจะสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดี แต่ภาวะเศรษฐกิจในปี 64 จะอยู่ในภาวะถดถอยมากสุดในภูมิภาค และต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิฤตโควิด-19 โดยจีดีพีจะหดตัว -8.3%, นิเคอิเอเชียรีวิวชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะถดถอยยาวนานถึง 10 ปี แม้กระทั่งสภาพัฒน์ล่าสุดคาดการณ์ว่าปี 64 ไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.5-3.5% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.5-4.5%

"ผมเองยังไม่เชื่อตัวเลขที่สภาพัฒน์บอก เพราะเครื่องจักรทางเศรษฐกิจในปี 64 ทุกตัวดับสนิท ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคภายใน การใช้จ่ายภาครัฐ หรือการลงทุนภาคเอกชน การประเมินของสภาพัฒน์ไม่มีทางเป็นไปได้" นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลตั้งแต่ปี 55 มีการขาดดุลงบประมาณแต่มีแนวโน้มลดลง แต่นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นรัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบเต็มเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเงินการคลัง

นอกจากรายจ่ายแล้วในด้านการจัดหารายได้ก็ไม่เพิ่มพูน เช่น การปรับลดภาษีที่ดินเหลือ 10% ต่อเนื่องเป็นปีที่สองแล้ว โดยอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ที่จริงแล้วเป็นการช่วยเหลือคนรวย ขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นเองมีมีรายได้ลดลง

ขณะที่มาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 นั้น เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้มีคนออกมาประท้วง ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนนั้นล่าช้า หากสามารถดำเนินการได้เร็วจะช่วยลดต้นทุนจากการเสียโอกาสได้ และช่วยให้การฟื้นฟูตัวของระบบเศรษฐกิจเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ