นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณี ส.ส.ลงมติในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลไม่เป็นไปตามมติพรรค และแต่ละพรรคมีการตั้งกรรมการสอบสวนว่า การดำเนินการของพรรคการเมืองเพื่อสอบสวน ส.ส.ที่ไม่ลงมติตามมติพรรคนั้นสามารถกระทำได้ภายใต้ข้อบังคับของพรรคการเมืองนั้นๆ เพื่อแสวงหาเหตุผลที่ ส.ส.ไม่ปฏิบัติตามมติพรรค และนำไปชี้แจงต่อประชาชน รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีฝ่ายรัฐบาลอาจจะเป็นเพราะรัฐมนตรีผู้นั้นชี้แจงข้อกล่าวหาได้ไม่ชัดเจน ก็เป็นรัฐมนตรี หรือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ต้องดำเนินการชี้แจงเพิ่มเติม ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านอาจมองรัฐมนตรีชี้แจงได้ชัดเจนดีแล้วจึงลงมติไว้วางใจให้ เป็นต้น
ส่วนการจะสอบสวนเพื่อนำไปสู่การลงโทษ ซึ่งข้อบังคับของแต่ละพรรคกำหนดโทษสูงสุดถึงขั้นขับออกจากพรรคนั้น ควรต้องพึงระวังว่าอาจจะขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เข้าข่ายการกระทำที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรมนูญกำหนด หรือเป็นลักษณะที่ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือไม่ ยกตัวอย่าง หากใช้เหตุผลว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ แล้วมาสอบสวนหรือลงโทษ ส.ส.ที่สังกัดพรรคตัวเอง อาจเข้าข่ายคนนอกครอบงำ เป็นเหตุให้นำไปสู่การร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้
นายสุชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่อยู่ในระบบพรรคการเมืองมาตลอด และเข้าใจดีถึงความสำคัญของความเป็นเอกภาพของพรรคการเมือง ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้ท้ายหรือสนับสนุนให้ ส.ส.แหกมติพรรค แต่ต้องไม่ลืมว่า มติพรรคไม่ได้มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เป็นเพียงธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของพรรค แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนี้พรรคต้นสังกัดก็ย่อมต้องให้เกียรติวิจารณญาณของ ส.ส.ด้วยเช่นกัน เพราะแม้ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมือง และอยู่ภายใต้ข้อบังคับของพรรคการเมือง แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดจะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่ให้อิสระไว้ได้ อีกทั้งการยึดติดให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรคอย่างเคร่งครัดก็อาจนำไปสู่ระบบใบสั่ง ทำให้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่มีเสรีภาพในการออกเสียงอย่างเป็นอิสระ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้นำไปสู่การร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้
"การลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจฯ ของ ส.ส.เป็นวิจารณญาณของผู้นั้นที่จะตัดสินใจได้โดยอิสระ แต่ในทางกลับกันหากการลงมติของ ส.ส.ผู้นั้นไม่เป็นไปตามมติพรรค เพียงเพื่อแลกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทนใดๆ หรือมีวาระส่วนตัวซ่อนเร้น ก็เป็นเรื่องที่ควรต้องถูกประณามและลงโทษในแง่จริยธรรมเช่นกัน หากชี้แจงไม่ได้หรือมีหลักฐานชัดเจน" นายสุชาติ กล่าว