นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลพิพากษาจำคุกแกนนำและแนวร่วมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ส่งผลให้รัฐมนตรี 3 คนพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ที่กำหนดว่า ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 98 ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้จำคุกไม่ว่าจะถึงที่สุดหรือไม่ แม้จะมีโอกาสสู้คดีอีกหลายปี แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงทันที
สำหรับเก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างลงนั้น ตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ ให้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ รักษาราชการแทน ส่วนตำแหน่งรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กำหนดรักษาการไว้ 2 ตำแหน่ง คือ รมว.ศึกษาธิการ และลำดับต่อไปคือ รมว.วัฒนธรรม ดังนั้น ผู้ที่จะมารักษาราชการแทน คือ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ซึ่งในระหว่างนี้สามารถทำหน้าที่ไปก่อน เว้นแต่ ครม.จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า โดยไม่ได้มีกำหนดเงื่อนเวลาว่าจะต้องปรับ ครม. ภายในระยะเวลาเท่าไหร่
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีแต่ละคนเป็น ส.ส.อยู่ด้วยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องแยกกัน เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 101 (13) โดยปกติ หากเป็น ส.ส.และศาลยังไม่ได้ตัดสินให้ถึงที่สุด จะยังไม่พ้นความเป็น ส.ส.แต่ก็จะมีเหตุอื่นเข้ามา โดยหากศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งก็จะโยงกลับไปในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในมาตรา 96 (2) เพราะไม่ว่าคดีจะสิ้นสุดหรือไม่ก็จะพ้นจากความเป็น ส.ส.ด้วย ซึ่งแต่ละคนอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน
ส่วนกรณีที่ศาลไม่ได้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยหลักจะถือว่า การจำคุกนั้นไม่ถึงที่สุด เพราะสิทธิเลือกตั้งไม่ได้ถูกเพิกถอน ดังนั้นจะยังไม่พ้นความเป็น ส.ส. แต่หากมีเหตุอื่นแทรกคือ ถูกจำคุกโดยมีหมายศาล หากเป็นเช่นนั้นก็จะพ้นสภาพการเป็น ส.ส.เช่นกัน
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะต้องเลื่อนรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมา และเลื่อนช้าหรือเร็วก็มีผล เนื่องจากสภาฯกำลังจะปิดสมัยประชุม หากเลื่อนเร็วเข้ามาและปฏิญาณตนก็จะถือว่าทำหน้าที่ได้เร็ว เพราะหากเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ เพื่อโหวตรัฐธรรมนูญในกลางเดือนมี.ค. ก็จะสามารถทำหน้าที่โหวตได้เลย และจะมีผลถึงเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ ด้วย ซึ่งหากยังไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาได้ก็จะไม่ถือว่าเป็น ส.ส.
ส่วนถ้าเป็น ส.ส.เขตก็ต้องไปจัดการเลือกตั้งใหม่ ประเด็นนี้ หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความสงสัยก็ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเหมือนกรณีของนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากการเลือกตั้งซ่อมเขตจะต้องออกพระราชกฤษฎีกา แต่ก็ขึ้นอยู่กับ กกต.จะพิจารณา ซึ่งสามารถเทียบกับคดีของนายเทพไท ได้อยู่แล้ว
ส่วนเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส. นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ส.ส.มีเอกสิทธิ์และการคุ้มกันที่แยกออกจากกัน โดยเอกสิทธิ์จะใช้ในการพูดในสภาฯอย่างเดียว ส่วนการคุ้มกัน หมายความว่าในระหว่างสมัยประชุมจะนำตัวไปดำเนินคดีไม่ได้ เว้นแต่ปิดสมัยประชุมที่สามารถทำได้ โดยส.ส.ที่ถูกดำเนินคดีล่าสุดจะได้รับการคุ้มกันหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การคุ้มกันมีกระบวนการต้องยื่น ต้องขอจากสภาฯ
และกรณีที่ถูกควบคุมตัวไปฝากขังแล้วจะสามารถทำเรื่องจากสภาฯจะขอคุ้มกันได้หรือไม่นั้น สามารถทำได้ และยังไม่ถือว่าการเดินเข้าไปในเรือนจำจะสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. เพราะคดีอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ และ ยังไม่ถูกจำคุกโดยหมายของศาล ตามมาตรา 98(6) ดังนั้น ส.ส.ที่ถูกคุมขังเมื่อคืน ต้องพิจารณาว่าถูกคุมขังโดยหมายศาลหรือควบคุมตัวโดยธรรมดา หาก ส.ส.ที่ถูกคุมขังอ้างการคุ้มกันขึ้นมาก็ต้องปล่อยตัวไป
ส่วนกรณี นางทยา ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำกปปส. ที่มีโทษรอลงอาญาและถูกตัดสิทธิทางการเมือง จะสามารถอุทรณ์เพื่อได้สิทธิทางการเมืองกลับมาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะตัดสินเป็นอย่างอื่น
"นี่คือความรุนแรงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ตั้งใจมาตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งรัฐมนตรีจำคุกไม่ถึงที่สุด ก็ถือว่าพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เมื่อศาลตัดสินยกฟ้องไม่จำคุกความเป็นรัฐมนตรีก็จะไม่กลับมา ซึ่งหากจะตั้งให้เป็นรัฐมนตรีก็สามารถตั้งบุคคลเหล่านี้กลับมาได้ แต่จะมีความหมายตามมา คือ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ จะมีสิทธิไปสมัครหรือไม่ ดังนั้นหากกรณีศาลอุทธรณ์ไปตัดสินว่า ไม่ตัดสิทธิเลือกตั้งความเป็น ส.ส.สิ้นสุดในเวลานี้ แต่สามารถสมัครในคราวหน้าได้" นายวิษณุ กล่าว