นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ, นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชน, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และนายธงชาติ รัตนวิชา พรรคประชาชาติ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอส่งบันทึกถ้อยคำและความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
นายประเสริฐ กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านเห็นว่าศาลฯ ได้ขอความเห็นจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ 4 คน ดังนั้นเพื่อเป็นการเปิดรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย จึงได้ขอส่งบันทึกถ้อยคำเป็นข้อมูลต่อศาลรวม 7 หน้า เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) บัญญัติไว้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม คิดว่าการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะทันต่อการที่สภาจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในช่วงวันที่ 17-18 มี.ค.
นายประเสริฐ กล่าวว่า ฝ่ายค้านยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าหากการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ไม่สามารถเป็นไปได้จะทำอย่างไร เพราะเราคาดหวังไว้ว่างรัฐสภาน่าจะผ่านวาระ 3 ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนเรียกร้องรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนจะเห็นด้วยกับการผ่านวาระ 3
ด้านนายชัยธวัช เห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ควรมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าสภามีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงห้ามแก้ไขแล้วไปกระทบต่อระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐมิได้ ดังนั้นการแก้ไขโดยให้มีส.ส.ร. จึงอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ กระบวนการก็ยังอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงได้ให้ความเห็นในบันทึกที่ส่งศาลในวันนี้ การเสนอแก้ไขในลักษณะที่กระทำอยู่สามารถทำได้ และเป็นอำนาจของรัฐสภา และในอดีตตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ก็มีการดำเนินการในลักษณะนี้ จนนำไปสู่การตั้งส.ส.ร. และมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จึงยืนยันในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านว่ารัฐสภามีอำนาจ ไม่เห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ
นายสงคราม กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้ห้ามไม่ให้แก้ไข ซึ่งหมวด 1 และ หมวด 2 เราได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการแก้ไข จึงไม่ใช่เป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับ พรรคฝ่ายค้านยังไม่ได้มีการเตรียมแผน 2 กรณีที่ไม่สามารถตั้ง ส.ส.ร.ได้ เพราะมองว่าบรรยากาศในการประชุมกรรมาธิการแก้ไขรับธรรมนูญเป็นไปด้วยความราบรื่น ตัวแทนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ส.ว. ถ้อยทีถ้อยอาศัย ดูแล้วเหมือนมีความจริงใจในการแก้ไขตามที่บางพรรคการเมืองเคยหาเสียงไว้ และตามที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะมีการมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"เราก็คิดว่าบ้านเมืองจะไปได้ การปรองดองก็จะเกิดขึ้น ถ้ามีการแก้ไขรับธรรมนูญ แต่กลับมีการยื่นศาลให้วินิจฉัยในเรื่องนี้ ก็รู้สึกเสียใจเสียดาย ยังหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมองในทางบวก เพราะถ้ารัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ บ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวาย" นายสงครามกล่าว