บช.น. ยก 7 ข้อหาผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.โรคติดต่อ-โทษอาญา ปรามม็อบ 6 มี.ค.

ข่าวการเมือง Thursday March 4, 2021 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) กล่าวถึงกรณีมีการประกาศนัดหมายการชุมนุมผ่านโซเชียลในวันที่ 6 มี.ค. ของกลุ่มแนวร่วมแดงก้าวหน้า 63 บริเวณโลตัส รังสิต ในเวลา 13.00 น. และเคลื่อนขบวนมาที่บริเวณกรมทหารราบที่ 11 และกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณอนุสารีย์ประชาธิปไตย ในเวลา 17.00 น.นั้นว่า อาจมีความผิดและได้รับโทษตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้

1.การร่วมกันชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เป็นความผิด ตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.การกระทำใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ที่เป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่ออันตราย หรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6),51 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

3.ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 200 บาท

4.ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไป แล้วผู้ใดไม่เลิก เป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 216 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์สินให้เกิดความเสียหาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 140,000 บาท

7.การทำให้ทรัพย์สินสาธารณะประโยชน์เสียหาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ