วิป 3 ฝ่ายเคาะ 17-18 มี.ค.ลงมติแก้ รธน.วาระ 3,เล็งหาทางตั้งรับคำวินิจฉัยศาลฯ

ข่าวการเมือง Monday March 8, 2021 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อหารือแนวทางการเปิดประชุมสมัยวิสามัญรัฐสภาเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นควรให้เปิดการประชุมรัฐสภาในวันที่ 17-18 มี.ค.64 และคาดว่าจะใช้เวลาลงมติประมาณ 3-4 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเสนอ พ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุม แต่เบื้องต้นทราบว่ารัฐบาลจะรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่11 มี.ค.นี้ก่อน หากไม่มีปัญหาก็เชื่อว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าต่อในการพิจารณาวาระ 3 พร้อมกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติในการเปิดวิสามัญครั้งนี้ด้วย ซึ่งเมื่อผ่านวาระ 3 แล้วจะได้จัดทำประชามติไปตามกระบวนการ

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่า ส.ว.และ ส.ส.พลังประชารัฐ จะร่วมกันโหวตคว่ำร่างฯในวาระ 3 นั้น นายชวน กล่าวว่า คงต้องรอดูเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริง อย่าเพิ่งกังวล ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนย่อมรู้ถึงสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ทุกฝ่ายจำเป็นต้องใช้เหตุและผล

ทั้งนี้ นายชวน ยอมรับว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีการทะเลาะกันมาก บางเรื่องก็กลายเป็นความขัดแย้งในทางวาจา แต่ไม่ได้ขัดแย้งเรื่องสาระ เหมือนกับเครียดแค้นกันมาอย่างที่ทุกคนได้เห็นกัน จนทำให้หลายฝ่ายตกอยู่ในความกังวลว่าจะเกิดปัญหา ดังนั้น จึงต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่าย

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า หากจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญให้ทันวันที่ 17-18 มี.ค.64 ครม.จะต้องเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.64 ซึ่งจากการหารือประธานรัฐสภายืนยันว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร หากสุดท้ายไม่สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาได้ ประธานก็จะนำเรื่องอื่นเข้าสู่การพิจารณาแทนเพื่อให้การประชุมสมัยวิสามัญเดินหน้าไปได้ เว้นแต่ ครม.จะไม่ยอมออก พ.ร.ฎ.

ในส่วนของฝ่ายค้านยังรอดูท่าทีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ยังคาดการณ์คำวินิจฉัยได้หลายแนวทาง เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้รัฐสภาอาจไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรืออาจจะแก้ไขเพิ่มเติมได้แต่มีข้อแม้ เช่น ต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะให้ร่างฉบับใหม่ได้หรือไม่

ลังจากนี้ฝ่ายค้านจะหารือกันว่าหากไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ก็ต้องใช้วิธีการแก้ไขเป็นรายมาตราแทน โดยเฉพาะการนำ 4 ร่างเดิมของพรรคเพื่อไทยที่ได้เสนอแก้ไปก่อนหน้านี้และถูกรัฐสภาตีตกกลับขึ้นมาเสนอญัตติต่อรัฐสภาอีกครั้งในสมัยประชุมหน้า เพราะตามเงื่อนไขของข้อบังคับเปิดโอกาสให้ทำได้ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของระบบเลือกตั้ง อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. และที่มาของนายกรัฐมนตรี ให้เกิดขึ้นได้ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ