พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีมีข้อเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่จะดำเนินการ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
"รัฐบาลไม่สามารถทำได้ ดังนั้น จะแก้กันอย่างไรก็เป็นเรื่องของสภา เพราะสภากับรัฐบาลเป็นคนละเรื่องกัน" พล.อ.ประวิตรกล่าว
พร้อมยืนยัน จุดยืนของรัฐบาลในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับ ก็ต้องไปพิจารณากัน แต่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกกัน เพราะทุกพรรคต่างมีแนวทางเดียวกัน เพียงแต่จะแก้เป็นรายมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ สำหรับพรรคพลังประชารัฐมีความพร้อมอยู่แล้ว เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาล
ส่วนจะเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ได้เห็นแน่นอน ส่วนจะสำเร็จภายในรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น คงไม่สามารถตอบได้
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ทราบว่าจะแก้อะไรบ้าง และแต่ละพรรคก็มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งหากทุกอย่างตรงกันแล้ว ใครจะเป็นเจ้าภาพก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ในส่วนของบุคคลอื่นจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ
ทั้งนี้ ส่วนตัวเคยเสนอไปแล้วว่า ควรจะต้องกำหนดมาตราที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะต้องแก้ไข และมีความจำเป็นก่อนหรือเป็นมาตราที่ไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งจะทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น ส่วนมาตราที่ว่านั้นจะมีเรื่องใดบ้าง ยังไม่อยากตอบในขณะนี้ และคนที่ควรจะเริ่มหยิบประเด็นนี้มาพูดคุย คือ วิปรัฐบาล ส่วนขั้นตอนจะเป็นอย่างไรต่อไปคงต้องเกิดการพูคคุยกันก่อน
นายวิษณุ กล่าวว่า ที่สุดแล้วการพิจารณาในวาระ 3 ไม่ควรจะมีปัญหา แต่ก็ต้องติดตาม เพราะยังคงมีอีกหลายมาตราที่อาจจะเป็นปัญหาได้ในจำนวนทั้งหมด 17 มาตรา เช่น มาตราที่กำหนดว่าจะต้องมีประชาชนมาออกเสียงมากเท่าใดถึงจะเป็นประชามติ ซึ่งมาตราเหล่านี้มีความสำคัญ และยังไม่ได้มีการพูดถึง ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เป็นร่างกฏหมายสำคัญ และเป็นร่างของรัฐบาล ซึ่งร่างจะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะถูกคว่ำหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐสภา ขออย่าคิดล่วงหน้า เพราะการทำงานจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
พร้อมกันนี้ ยังมองว่ากรณีของมาตรา 9 ที่เปิดช่องให้รัฐสภา และประชาชน มีสิทธิเสนอเรื่องให้ทำประชามตินั้น ไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ปัญหาต่อจากนั้น คือ การขอแก้ไขมาตรา 9 จะไปผูกกับมาตรา 10, 11, 12, 13 และบทกำหนดโทษ
"ในประเพณีการปกครอง แม้ในอังกฤษเอง หรือในที่อื่นๆ ถ้ารัฐบาลเสนอวาระ 1 ไม่ผ่าน จะมีผู้กระทบ เช่น ต้องลาออกหรือยุบสภา เพราะนั่นแปลว่าสภาไม่ไว้วางใจ แต่การที่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านวาระที่ 1 ไปแล้วนั้น และมีการแก้ไข ถือเป็นเรื่องของกรรมาธิการ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ผลจึงแตกต่างกัน ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายไม่ผ่าน" รองนายกรัฐมนตรีระบุ