นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงกรณีที่รัฐสภาเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา9 ของร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่มีผลให้รัฐสภาและประชาชนมีสิทธิเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกเสียงประชามติเรื่องที่เสนอว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างปรับแก้มาตราต่อเนื่องจากมาตรา 9 ให้มีกรอบที่ไม่มัดมือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกินไป และกรรมาธิการจะนัดพิจารณาในวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ เบื้องต้นเชื่อว่านอกจากจะพิจารณาเนื้อหาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแล้ว อาจมีข้อเสนอจากกรรมาธิการ อาทิ ให้ชะลอการบังคับใช้มาตรา 9 เนื่องจากเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาบางส่วนและรัฐบาล เห็นว่ามีความขัดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166
ส่วนตัวเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะผ่านวาระ 3 ได้ยาก ซึ่งอาจเกิดกรณีถามหาความรับผิดชอบด้วยการยุบสภาฯ และเชื่อว่า ส.ส.ไม่ต้องการ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีทางออกหลายวิธี เช่น เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขมาตรา 9 เป็นต้น
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ว่า เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีสมาชิกรัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความบทบัญญัติที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่รัฐสภามีมติเสียงข้างมากให้แก้ไข โดยเพิ่มสิทธิให้กับรัฐสภาและภาคประชาชนเข้าชื่อร้องขอให้จัดทำประชามติได้ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิของภาคประชาชน ที่อาจจะเกินกรอบของรัฐธรรมนูญและหลักการของร่างกฎหมายที่กำหนดไว้ได้
สำหรับแนวทางของการพิจารณาเนื้อหา หากรัฐสภาเห็นชอบให้บัญญัติเนื้อหาดังกล่าวได้ อาจจะมีผลกระทบ แต่ยังมีทางแก้ไขได้ เช่น เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านรัฐสภา อาจมีการเสนอให้แก้ไขเนื้อหา เป็นต้น แต่ในชั้นนี้ตนได้พิจารณารายละเอียดแล้ว เชื่อว่าจะมีผู้ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความมากกว่า