(เพิ่มเติม) โฆษกฯ เชื่อกม.ประชามติผ่านฉลุยหากตกลงกันได้ในชั้น กมธ.

ข่าวการเมือง Wednesday March 31, 2021 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ค้างการพิจารณาในรัฐสภาว่า เชื่อว่าทุกคนต้องการให้ผ่านพิจารณาและที่ผ่านมานั้นไม่มีเจตนาจะยื้อหรือดึงเรื่อง แต่ต้องการให้เกิดความถูกต้อง ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากในชั้นกรรมาธิการตกลงกันได้ และรัฐสภาเห็นร่วมกัน ขณะที่เนื้อหาเป็นไปตามกรอบและหลักการประชามติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อการทำประชามติ และมาตรา 256 ว่าด้วยการทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะไม่เกิดกรณีที่ถูกมองว่าขัดรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ส่วนกรณีที่อาจมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความหลังผ่านวาระสามนั้น ตนไม่ทราบว่าจะมีบุคคลใดยื่นเรื่องหรือไม่

ทั้งนี้ในการประชุมวิปวุฒิสภาวันนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ จะนำรายละเอียดแจ้งให้กับที่ประชุมพร้อมทำความเข้าใจในเนื้อหา นอกจากนั้นวิปวุฒิสภาจะหารือและพูดคุยกับการลงมติ เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเหมือนการลงมติมาตรา 9 ในที่ประชุมรัฐสภา และเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย เบื้องต้นทางกฤษฎีกาได้ปรับปรุงเนื้อหาจำนวน 2 มาตรา คือ มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่ได้แก้ไข

และในการนัดประชุมกมธ.ประชามติ วันที่ 1 เม.ย.นั้น จะนำรายละเอียดที่กฤษฎีกาเสนอพิจารณา ถกแถลงเพื่อให้ได้ข้อยุติในชั้นกมธ. เบื้องต้นเชื่อว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายใน 1 วัน เพราะมีเนื้อหาพิจารณาเพียง 2 มาตรา ทั้งนี้ต้องให้สิทธิกมธ.ทั้ง 49 คนได้อภิปรายและแสดงความเห็น

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า นายสุรชัย ได้รายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับแก้เนื้อหาแล้วจำนวน 3 มาตรา คือ มาตรา 10 มาตรา 11 และ มาตรา 12 แต่ไม่ได้นำรายละเอียดหรือเนื้อหาให้ที่ประชุมพิจารณา เนื่องจาก กมธ.ประชามติยังไม่ได้พิจารณาและมีความเห็น ทั้งนี้ในวันที่ 1-2 เม.ย.64 กมธ.ประชามติ จะนำรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุม ส่วนประเด็นการลงมติต่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามตินั้นจะเป็นไปตามปกติ

รายงานข่าว แจ้งว่า การประชุมวิปวุฒิสภาในส่วนของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ นั้นได้พิจารณาเป็นการลับ โดยให้เฉพาะ กมธ.ที่เป็น ส.ว.เท่านั้นเข้าร่วมประชุมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ