นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงความพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา รวมทั้งสิ้น 5 ประเด็น 13 มาตรา โดยจะยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ภายในวันที่ 7 เม.ย.นี้
พร้อมมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบรายมาตราครั้งนี้จะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เนื่องจากมีการพูดคุยกับ ส.ว. แล้ว และหวังว่าเมื่อประธานรัฐสภาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระแล้วจะขอให้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาในวาระแรก วันที่ 25 พ.ค.นี้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5 ประเด็น 13 มาตราของพรรคพลังประชารัฐ เช่น การตัดกระบวนการไพรมารีโหวตในการเลือกตั้ง ในมาตรา 45 โดยจะนำมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้แทน, การแก้ไขกระบวนการเลือกตั้ง นำระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมาใช้แทน โดยให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องส่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตไม่น้อยกว่า 100 เขต จึงสามารถส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ โดยจะไม่มีการปัดเศษ พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง 1% จะไม่ได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นอกจากนั้น ยังมีการแก้ไขมาตรา 144 ว่าด้วยการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยให้นำมาตรา 168 วรรค 5, 6, 7, 8 และ 9 ของรัฐธรรมนูญมาตรา 2550 มาใช้แทน พร้อมแก้ไขการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม, และให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก ๆ 1 ปี เป็นต้น แต่ยังคงอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในมาตรา 272 ไว้เช่นเดิม
ส่วนกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราแยกญัตติ เพื่อแก้ไขมาตรา 256 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมาตรา 272 ในการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายไพบูลย์ เชื่อว่า การตัดอำนาจ ส.ว. จะทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากวุฒิสภา และการแก้ไขมาตรา 256 ก็ยังจะต้องจัดการออกเสียงประชามติ ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐจะไม่สนับสนุน และไม่น่าผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมรัฐสภาด้วย
นายไพบูลย์ ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการยุบสภา และจากการพูดคุยกับ ส.ส. ก็ยังไม่มีใครสนับสนุนให้มีการยุบสภา และไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องยุบสภา เว้นเพียงสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ยุบสภา เนื่องจากเป็นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน