(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มี.ค.64 หดตัวต่อเนื่อง -0.08% คาดเม.ย.พลิกกลับมาเป็นบวก

ข่าวการเมือง Monday April 5, 2021 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มี.ค.64 หดตัวต่อเนื่อง -0.08% คาดเม.ย.พลิกกลับมาเป็นบวก

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมี.ค.64 อยู่ที่ 99.11 ลดลงเล็กน้อยที่ -0.08% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) ลดลง -0.53%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนมี.ค.64 อยู่ที่ 100.42 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.12%

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.64 ถือว่าหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 13 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน โดยสูงขึ้น 1.35% ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก รวมทั้ง น้ำมันพืช และเนื้อสุกร ที่ยังมีราคาสูง โดยเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับมีต้นทุนในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาเพิ่มขึ้น

"เงินเฟ้อที่หดตัวน้อยลงในเดือนนี้ นับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป" นายวิชานันระบุ

สำหรับดัชนีในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 100.29 ลดลง -0.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -0.08% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 98.46 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.43% จากเดือนก.พ.64

นายวิชานัน คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 ปีนี้ว่า มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่ขยายวงกว้างมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยวโดยกำหนดให้มีวันหยุดเพิ่มเติม การเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และอุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับฐานราคาที่ต่ำในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตร ยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวด้วยว่า ในเดือนมี.ค.64 กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับสมมติฐานสำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปรับลงมาเหลือ 2.5-3.5% (เดิม 3.5-4.5%) ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 55-65 ดอลลาร์/บาร์เรล (เดิม 40-50 ดอลลาร์/บาร์เรล) และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี 29-31 บาท/ดอลลาร์ (เดิม 30-32 บาท/ดอลลาร์) แต่ทั้งนี้ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 0.7-1.7% หรือค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.2% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สนค.จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้ง

"ด้วยประมาณการเหล่านี้ ผนวกกับมาตรการของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา 3 เดือน ทำให้แม้เราจะปรับสมมติฐาน แต่คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปียังเท่าเดิม เพราะตอนที่เราคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ไว้ ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา และ assumption อื่นๆ ยังแตกต่างจากตอนนี้ แต่พอเราเปลี่ยน assumption ผนวกกับมาตรการภาครัฐทั้งปี ทำให้เงินเฟ้อทั้งปียังอยู่เท่าเดิมที่ 0.7-1.7%" นายวิชานันระบุ

พร้อมเชื่อว่า ตั้งแต่เดือนเม.ย.64 หรือไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มกลับมาเป็นบวก โดยจะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากเทียบกับฐานที่ต่ำในไตรมาส 2/63

"สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการของประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งมีผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการของภาครัฐต่างๆ ที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง เชื่อว่าตั้งแต่เม.ย.นี้ เงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก และจะบวกแรงในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนด้วย" รองผู้อำนวยการ สนค.กล่าว

พร้อมระบุว่า สำหรับความกังวลเรื่องภาวะเงินฝืดเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นมากกว่าแนวโน้มลดลง ดังนั้นจึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเกิดภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ