นักวิชาการมองกม.ลูกล้างเผด็จการสภายังยาก พรรคใหญ่กระจายร่างรอวันรวมตัว

ข่าวการเมือง Monday October 1, 2007 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิชาการมองกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับตอบเจตนาหลักชัดเจนป้องกันอำนาจเผด็จการทางรัฐสภาที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ไม่ใช่การมุ่งไล่ล่าอำนาจเก่า หรือทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่สุดท้ายยังเชื่อว่าการที่พรรคใหญ่สลายตัวลงไปกลับกลายเป็นว่าไปเกิดเป็นพรรคย่อย ๆ เพื่อหวังลบภาพพรรคขั้วเดียว ซึ่งหนีไม่พ้นเป็นกลุ่มเดียวกัน 
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เลขานุการ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต)กล่าวว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ที่มุ่งสร้างความมีเสถียรภาพทางการเมืองด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับพรรคการเมือง แต่กลับทำให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียวและมีหัวหน้ารัฐบาลที่กุมอำนาจไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทุกเรื่อง
จากจุดนี้จึงเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้พยายามปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องอื่น ๆ ด้วยการมุ่งจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ จากการเข้ามาทำงานการเมือง ทำให้ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.), พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ต่างออกมาคัดค้านและกล่าวหาว่าตั้งธงไล่ล่าอำนาจเก่า และมุ่งทำให้พรรคการเมืองเกิดความอ่อนแอ
"เป็นมุมมองของการอยากจะพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากฝ่ายการเมืองไม่ได้ทำผิด บริสุทธิ์จริงก็ไม่ต้องเกรงกลัวอะไร...เป็นเรื่องซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พยายามแก้ไข หลายคนก็มองว่าอาจจะนำไปสู่อีกทิศทางหนึ่ง นั่นคือทิศทางที่ทำให้พรรคการเมืองเกิดความอ่อนแอ และทำให้ท้ายสุดแล้วเป็นรัฐบาลผสม ตรงนี้หากจะไปโทษกฎหมายฝ่ายเดียวก็ไม่น่าจะเป็นธรรม" นายสมชัย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
ก่อนหน้านี้ นายจำลอง ครุฑขุนทด อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระบุว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก 3 ฉบับเป็นการตั้งโจทย์เพื่อไล่ล่าอำนาจเก่า ทำให้พรรคการเมืองเก่าพิกลพิการไม่มีอำนาจ เมื่อตั้งโจทย์ผิดก็ย่อมทำให้การร่างกฎหมายผิดไปด้วย ขณะที่นายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายลูกตั้งธงไว้แล้วว่าพรรคการเมืองเลว จึงมุ่งแก้ไขประเด็นนี้ประเด็นเดียวโดยไม่คำนึงถึงด้านดีของความเป็นพรรคการเมือง รวมทั้งยังเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มากเกินไป
*ไม่เชื่อกฎหมายลูกตั้งโจทย์เพื่อมุ่งล้มล้างอำนาจเก่า
เลขานุการพีเน็ต กล่าวต่อว่า เมื่อได้พิจารณาโดยภาพรวมของกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับแล้วน่าจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์และพอใช้ได้ รวมทั้งเป็นกลไกที่ช่วยให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 สามารถใช้งานได้จริง และก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายได้ และไม่เชื่อว่าจะเป็นการร่างกฎหมายขึ้นเพื่อมุ่งหวังจะทำลายล้างกลุ่มอำนาจเก่า
"คิดว่ากฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ น่าจะเป็นกรอบเบื้องต้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายมากกว่า และถ้าหากเราไม่คิดจะทำผิด และทุกคนก็ไม่ทำผิดเหมือนกัน มันก็จะเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ได้ทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ หรือเป็นปัญหาต่อกลุ่มอำนาจเก่าแต่อย่างใด...ถ้าทุกคนไม่ทำผิดก็จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งถ้าไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบก็ไม่ต้องกังวลว่าจะทำลายกลุ่มอำนาจเก่า หรือกลุ่มอำนาจใหม่" นายสมชัย กล่าว
ขณะที่นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กฎหมายลูกดังกล่าวไม่ใช่การร่างขึ้นโดยมีโจทย์เพื่อมุ่งหวังจะไล่ล่าอำนาจเก่า แต่ร่างขึ้นจากที่เห็นข้อเสียของรัฐธรรมนูญปี 40 ในแง่ที่ว่าหากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นมาเป็นรัฐบาลและบริหารประเทศเพียงพรรคเดียว จะทำให้เป็นเผด็จการประชาธิปไตยที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศ
"ในกฎหมายใหม่นี้พยายามจะปกป้อง โดยไม่ได้มุ่งที่ไทยรักไทยอย่างเดียว แต่มุ่งในอนาคตว่าอย่าให้มีลักษณะที่เกือบจะฆ่ากันตาย ที่เกิดจากพรรคใดพรรคหนึ่งอาศัยกรอบของเสียงข้างมากมาผูกขาดการเมือง ทำให้ประชาธิปไตยที่ในที่สุดก็จบลงแบบเผด็จการประชาธิปไตย" นายสมชาย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
พร้อมมองว่ากฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับถือว่ามีความชอบธรรมเพราะเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญปี 50 ที่เกิดจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ยังมีข้อบกพร่อง เพียงแต่รายละเอียดของกฎหมายลูกที่ออกมาย่อมจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบซึ่งมีต่อพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มากก็น้อย
ดังนั้นพรรคการเมืองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งรัฐธรรมนูญปี 50 รวมทั้งกฎหมายลูก จะต้องใช้ความสามารถด้วยการสร้างความชอบธรรมและพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวในโอกาสต่อไป
"เรื่องที่คุณจะต้องต่อสู้กับประชาชนแล้ว ไปพยายามผลักดันให้แก้กม. แต่ที่ผ่านมากว่า 50% เห็นด้วย เพราะฉะนั้นต้องไปสร้างกระแสให้เห็นว่ามันต้องปรับ เป็นหน้าที่ของพรรคที่จะต้องไปสร้างความชอบธรรมอีกครั้ง..ความคิดของแต่ละคนในเรื่องความไม่ชอบธรรมมีแน่ ก็ต้องไปแก้ให้ความชอบธรรมเป็นที่ยอมรับของเสียงข้างมาก พรรคที่ถูกกระทบก็ต้องพยายามไปทำให้เกิดกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเอง" นายสมชาย กล่าว
*แม้หลากพรรคแต่ยังอยู่ใต้อำนาจคนกลุ่มเดียว
เลขานุการพีเน็ต ให้ความเห็นว่ายุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคการเมืองในขณะนี้ต่างเชื่อว่าการรวมกันเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวอาจทำให้ประชาชนไม่ยอมรับอันเนื่องจากมีบทเรียนที่เห็นได้ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นพรรคการเมืองจึงพยายามแตกย่อยเป็นหลายกลุ่ม เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่ประชาชน ซึ่งในความจริงแล้ว ก็ยังเชื่อว่ากลุ่มย่อยทางการเมืองเหล่านั้นต่างมีที่มาจากพรรคการเมืองเดิม
"เขาคิดว่าการรวมเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวอาจไม่เหมาะสมและทำให้ประชาชนไม่ยอมรับ จึงแตกย่อยเป็นหลายกลุ่ม ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดว่าแต่ละกลุ่มที่แตกย่อยออกมาจะมีความแตกต่างกัน ท้ายสุดผมยังคิดว่าการเมืองยังอยู่ในอำนาจของคนกลุ่มเดียว เพียงแต่อาจเสนอตัวเองออกมาในหลายรูปแบบ หลายพรรค และท้ายสุดก็คือคนกลุ่มเดียวกัน" นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย ยังเชื่อว่า กฎหมายจะเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ท้ายสุดแล้วสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกนักการเมืองคนใด หรือพรรคการเมืองพรรคใดเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ ย่อมขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยที่สำคัญ นั่นคือนโยบายพรรค และผลงานในอดีตที่เป็นรูปธรรมของผู้ลงสมัครเลือกตั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ