(เพิ่มเติม) วิป 4 ฝ่ายเคาะเปิดประชุมสภาฯ 27 พ.ค., ถกงบฯ ปี 65 วันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.

ข่าวการเมือง Friday May 14, 2021 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานประธานวิปรัฐบาล แถลงผลการประชุมร่วมวิป 4 ฝ่าย (ผู้แทนคณะรัฐมนตรี ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และวุฒิสภา)ว่า เบื้องต้นที่ประชุมยืนยันจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวันที่ 27 พ.ค.นี้

จากนั้นในวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระแรกก่อน และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ก็จะพิจารณาทบทวนอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป พร้อมยืนยันว่า รัฐสภาจะมีการใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มี ส.ส.เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว 235 คน และยังมี ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการรอเข้ารับการฉีดวัคซีน ส่วน ส.ส.ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะสามารถเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่นั้น นายวิรัช เห็นว่า หากเป็น ส.ส.ที่รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ไม่น่าจะเป็นปัญหา และยังมีอีกจำนวนหนึ่ง อยู่ระหว่างการรอเข้ารับการฉีดวัคซีน จึงมั่นใจว่าจนถึงวันประชุมน่าจะมี ส.ส.ทยอยเข้ารีบวัคซีนเพิ่มเติม

ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่า แม้จะกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ ส.ส.ก็จะต้องทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง โดยเฉพาะการพิจารณาพระราชกำหนด 2 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่สภาผู้แทนราษฎร จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด 105 วัน และตามมาตรการทางสาธารณสุขภายในรัฐสภา ก็เชื่อมั่นวาจะสามารถดำเนินการพิจารณากฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวได้ จากนั้นจึงจะค่อยพิจารณาตามสถานการณ์

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังร่วมประชุมวิป 4 ฝ่ายว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันจะเริ่มเปิดประชุมวันแรกในวันที่ 27 พ.ค. ร่างพ.ร.ก.จำนวน 2 ฉบับ ส่วนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จะเริ่มพิจารณาในวันที่ 31พ.ค. - 2มิ.ย.นี้ แต่เรื่องที่หนักหน่อยคือการประชุมร่วมรัฐสภา เนื่องจากจำนวนคนจะล้น ดังนั้นเรื่องที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่บรรจุระเบียบวาระไปแล้ว แต่ยังไม่กำหนดวันประชุม จึงได้มอบให้นายไพบูลย์นำไปหารือกับทั้ง 2 สภาฯ ว่าถ้าไม่จำเป็นจะไม่ประชุมร่วมรัฐสภา แต่เมื่อกฎหมายบังคับก็จะประชุม แต่จะประชุมวันไหนก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง ถือว่ายังไม่ได้ข้อยุติ

นายชวน กล่าวว่า ในการหารือมีความเห็นที่แตกต่างอยู่บ้าง บางฝ่ายอยากให้มีการประชุม บางฝ่ายก็อยากให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน เพื่อรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย แต่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ชี้แจงมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด โดยขอให้ ส.ส.และเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเร่งฉีดวัคซีนก่อน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว มีอาการแพ้ หรือกลัวการรับวัคซีนให้แสดงใบรับรองแพทย์ ถ้าไม่พร้อมก็ไม่อนุญาตให้เข้าห้องประชุม ตนขอย้ำว่าหมายถึงเจ้าหน้าที่ ไม่ได้หมายถึงส.ส. เพราะจะไปบังคับส.ส.คงไม่ได้

"มาตรการป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ต้อง 100% คือต้องไม่มีผู้ติดเชื้อโดยเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อในสภาฯอยู่ที่จำนวน 5 ราย ล้วนติดเชื้อมาจากภายนอกสภาฯ ที่ติดมาจากภายในสภาฯไม่มี ขณะเดียวกันก็จะขอความร่วมมือสื่อมวลชนสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงคัดกรองเข้า-ออกอย่างเข้มงวด" ประธานสภาฯ กล่าว

สำหรับมาตรการภายในห้องประชุมสภาฯ นายชวน กล่าวว่า จะต้องเว้นระยะห่าง ไม่อนุญาตให้มีผู้ไปนั่งใกล้ผู้อภิปราย ขณะเดียวกันตนได้ประสานไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เพื่อหารือกับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขออนุโลมปรับปรุงระเบียบกฎหมายให้ผู้อภิปรายสามารถถอดหน้ากากอนามัยในช่วงระหว่างการอภิปรายได้ ซึ่งนายวิษณุได้รับปากไปดำเนินการให้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ