นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายและบริการด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางรางและทางอากาศ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับศักยภาพ SMEs ด้วยการพัฒนา Ditigal Marketing ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เติบโต กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงและยั่งยืน ทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศให้เท่าเทียม
โดยภาพรวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ก่อสร้างและขยายช่องทางจราจรถนน รวมทั้งสิ้นกว่า 11,583 กม. พัฒนาถนนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว 115 โครงการ ระยะทางรวม 801 กม. พัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้นเป็น 260.027 กม. สร้างมอเตอร์เวย์เพิ่มสายพัทยา-มาบตาพุด เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังพัฒนาระบบรถไฟฟ้าทำให้มีโครงข่ายพร้อมให้บริการรวมทั้งสิ้น 169.5 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้ว 6 สี 9 เส้นทาง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 สาย รวม 156 กม. เตรียมผลักดันเข้าเป็นโครงการ PPP ได้แก่ สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง/รังสิต-มธ.รังสิต และสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมาก/ตลิ่งชัน-ศาลายา/ตลิ่งชัน-ศิริราช เป็นต้น
รัฐบาลนี้ยังผลักดันการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 9 โครงการ เพิ่มทางคู่เป็น 2,003 กิโลเมตร ส่งผลให้สัดส่วนรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 68% ของโครงข่ายทั่วประเทศ และเดินหน้ารถไฟความเร็วสูง 2 โครงการ ได้แก่รถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้มีการลงนามในสัญญาร่วมทุนแล้วและอยู่ระหว่างเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่หรือย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนที่ดิน ขณะที่เพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานหลักและท่าอากาศยานภูมิภาคในช่วงปี 2558-2563 เพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน ทอท. รวม 101 ล้านคนต่อปี ปริมาณการขนส่งทางน้ำเพิ่มเป็น 355.79 ล้านตัน ท่าเรือแหลมฉบังมีตู้สินค้าผ่านท่ามาเป็นอันดับที่ 21 ของโลก รวมทั้งผลักดันโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับตู้สินค้าเป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี
นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามความเดือดร้อนด้านการเดินทางของประชาชนมาตลอด โดยเร่งรัดแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างล่าช้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2, การแก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่เกิดจากรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยการเร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทย SMEs พัฒนา Digital Marketing เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ให้กับสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ ต่อยอดธุรกิจสู่สากล ด้วยนวตกรรมและการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุน SMEs ในอุตสาหกรรมอาหารไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท โดยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ สร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ และล่าสุดสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน (ฉบับที่ 2) 2563 ด้วย รวมทั้งเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตร โครงการเน็ตประชารัฐ โดยขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ครอบคลุมหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลจานวน 24,700 หมู่บ้าน ระบบธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โครงการ e-Payment ภาครัฐ รวมทั้งการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมุ่งพลิกโฉมประเทศไทยด้วยหลักการ Thai First คือ "ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน" เพื่อโครงการต่างๆ เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศได้รับประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม