รายงานข่าว แจ้งว่า ก่อนเริ่มการประชุมวุฒิสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เปิดโอกาสให้ ส.ว.หารือถึงประเด็นความเดือดร้อนของประชาชน โดยส่วนใหญ่เป็นการอภิปรายแสดงความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดการปัญหา โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีน รวมถึงเร่งเยียวยาประชาชนให้ตรงความต้องการ
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.เสนอให้รัฐบาลปรับแผนการฉีดวัคซีนเพื่อแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานในระบบอุตสาหกรรม หลังจากพบว่าเป็นคลัสเตอร์ที่การระบาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งนี้หากรัฐบาลเตรียมแผนฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าวหรือคนต่างชาติในเดือน ส.ค.อาจไม่ทันการณ์ ดังนั้นในทางที่ทำได้ คือ ให้นายจ้างซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านรัฐบาล โดยประสานไปยังพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมองว่าหากไม่เร่งสกัดแรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถควบคุมโรคได้
นายสมชาย ยังเรียกร้องให้รัฐบาลปรับการแถลงข่าวผ่านศูนย์แถลงข่าว และไม่แย่งให้ข้อมูลหลังจากพบข่าวเท็จเรื่องมีปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอ ทั้งนี้จากการตรวจสอบผ่านคณะกรรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ทราบว่าในเดือน มิ.ย.นี้ ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนแน่นอนจากแอสตราเซเนก้า จำนวน 6 ล้านโดส และซิโนแวก จำนวน 2.5 ล้านโดส ดังนั้นรัฐบาลจะมีวัคซีนให้บริการรวม 8.5 ล้านโดสแน่นอน
จากนั้นในเดือน ส.ค.-ก.ย.จะมีวัคซีนนำเข้าเดือนละ 10 ล้านโดส รวมแล้วรัฐบาลจะนำเข้ารวม 100 ล้านโดสในปีนี้ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลชี้แจงเพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.เรียกร้องให้รัฐบาลปรับการจัดสรรวัคซีนในเดือน พ.ค. โดยให้เกลี่ยจากจังหวัดที่พบจำนวนการระบาดน้อยหรือไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งมีประมาณ 40 จังหวัด มายังพื้นที่ที่พบว่าเป็นคลัสเตอร์ระบาดใหม่ เพื่อนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดให้กับประชาชนที่วิตกหวาดกลัวกับการระบาดในพื้นที่
นอกจากนั้นในด้านการให้ข้อมูลความมั่นใจกับประสิทธิภาพของวัคซีน ตนเองมีข้อมูลของวัคซีนซิโนแวค ว่า 67% สามารถช่วยผู้ป่วยที่มีอาการได้ 85% ช่วยผู้ป่วยไม่ให้แอดมิด 89% ช่วยผู้ป่วยไม่ต้องเข้าห้องไอซียู และ 80% ช่วยให้ผู้ป่วยไม่เสียชีวิต
ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.หารือว่ากรณีที่รัฐบาลเตรียมผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รวมถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พิจารณาจัดสรรเงินส่วนของเงินกู้จำนวน 2.5 แสนล้านบาท ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายรายละ 5,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการ เพราะจากการลงพื้นที่พบว่าโครงการที่รัฐให้สิทธิกับประชาชน เช่น เราชนะ, เรารักกัน, คนละครึ่งนั้น มีการซื้อขายสิทธิจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนต้องการนำเงินไปใช้จ่ายส่วนอื่นที่ไม่ใช่การซื้อของอุปโภคบริโภค