นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 ของรัฐบาลว่า แผนการจัดงบประมาณท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตจากโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่อาจให้งบประมาณฯ ปี 65 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลเสนอมานี้ผ่านสภาฯ ไปได้ เนื่องจากการแก้ปัญหาของรัฐบาลในห้วงเวลาที่ผ่านมาทั้งยืดยาด ล่าช้า ไม่เท่าทันกับปัญหาและสถานการณ์ จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิดระลอกล่าสุด สิ่งที่ประชาชนรับรู้และทำให้เศร้าใจ คือความไม่พร้อมในทุกด้านของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมรับมือกับปัญหาการระบาดของโรคในระลอกใหม่ ทั้งที่มีตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่ประชาชนไม่สามารถจะอดทนได้อีกต่อไป คือเรื่องการวางแผนจัดเตรียมวัคซีน ถือว่า รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดอย่างมากเท่าที่เคยมีมา ทั้งที่รับรู้กันทั่วทั้งโลกว่า ทางออกสำหรับวิกฤตโควิด-19 คือ วัคซีน แต่ที่สำคัญประชาชนไม่สามารถเลือกวัคซีนที่ตนเองคิดว่าปลอดภัยที่สุด เพราะรัฐบาลกำหนดไว้จึงทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนจำกัด
"การกระจายวัคซีนที่ไม่หลากหลาย รวดเร็ว ทั่วถึง และไม่ทันการ มันสะท้อนศักยภาพการบริหารของรัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่มีแผนรับมืออย่างเป็นระบบ" นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ ระบุว่า งบฯ ปี 65 ซึ่งรัฐบาลนำเสนอเข้ามาให้พิจารณาต้องเรียนว่า เหมือนอยู่กันคนละโลกกับประชาชนเจ้าของประเทศ เพราะความเป็นจริงที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ ยุทธศาสตร์การจัดการในภาวะวิกฤต เป็นหลักประกันสำคัญในการกำหนดงบประมาณ เมื่อยุทธศาสตร์มีลักษณะแยกส่วน หน่วยงานแยกกันแบบต่างหน่วยต่างทำ และแย่งกันทำงานอย่างไม่ประสานกัน การจัดการงบประมาณยิ่งสะท้อนความล้มเหลว และหละหลวมในการบริหาร
"วันนี้ประชาชนกำลังลำบากอย่างแสนสาหัส แต่รัฐบาลกลับวางแผนจัดงบประมาณปี 2565 ราวกับประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติดี นายกรัฐมนตรีไม่ได้ยินเสียงของประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ดังระงมไปทุกภาคส่วนเลยหรือ" นายสมพงษ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจล้มระเนระนาด ผู้คนตกงานในระบบสูงที่สุดในประเทศ อัตราการว่างงานจะเริ่มมากขึ้นจนน่ากังวล หนี้ครัวเรือนสูงสุดในประวัติศาสตร์ชาติ เศรษฐกิจเสียหายถึงจำนวน 1 ล้านล้านบาท ไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น ยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นอย่างไร ตัวอย่างที่ล้มเหลวอย่างนี้ ประเทศเรากำลังอยู่ในภาวะที่สาหัส ภัยทางเศรษฐกิจคงจะคืบเข้ามาทำร้าย เป็นพิษต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารจัดการไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ด้วยวิธีที่ไม่มียุทธศาตร์ ทำให้จีดีพีตกต่ำลง การจัดเก็บภาษีในปี 65 จะลดลง และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เกรงว่ารัฐบาลจะไม่มีเงินใช้ แต่รัฐบาลก็จะออก พ.ร.ก.เงินกู้มาจำนวนมากๆ บ่อยๆ แต่ต้องระวังว่าเมื่อกู้มาก ดอกเบี้ยก็ตามมามาก และจะติดกับดักตัวเอง หาทางออกไม่ได้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการบริหารราชการมา 7 ปี สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารราชการไม่เป็น สร้างหนี้เพิ่มให้ประเทศ และประชาชนรายได้ของประชาชนลดน้อยลง
"ที่บอกคืนความสุขเป็นเพียงลมปาก งบปี 65 รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ 2.3 ล้านล้านบาท จากในยอดรวม 3.1 ล้านล้าน คิดเป็น 76.15% ตั้งงบลงทุนไว้เพียง 20% หรือ 6.2 แสนล้านบาท แต่กลับตั้งงบกระทรวงกลาโหมในการซื้ออาวุธไว้เป็นจำนวนมาก ที่น่าห่วงคือรัฐวิสาหกิจ 52 แห่งที่บางแห่งยังขาดทุน เช่น การบินไทย ยังเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินในการแก้ไข ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของนายกรัฐมนตรี"
นายประเสริฐ กล่าวว่า ขอตั้งขอสังเกตครั้งนี้ 5 ข้อ คือ 1.การจัดสรรงบไม่สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพราะในยุทธศาสตร์ 6 ด้านที่นายกฯ ชี้แจงไม่มีการพูดถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ เพราะส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ถือเป็นสงครามกับโควิดที่ต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหา ไม่มีการวางยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมานฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อการจัดสรรงบประมาณไม่สะท้อนปัญหาของประเทศ ก็ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด การอัดฉีดเงินให้เอสเอ็มอี แต่ละครั้งก็ไปไม่ถึงมือ ถึงแค่บางส่วน คนตกงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ทั่วโลกกำลังพูดถึงการฟื้นตัวฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่เศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งเหว
2.การใช้งบประมาณตลอด 7 ปีของรัฐบาลใช้งบสูงถึง 20.8 ล้านล้านบาท และที่กำลังจะใช้เพิ่มอีก 3.1 ล้านล้านบาท แต่ 7 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยกลับโตเพียง 1% เท่านั้น ชี้ให้เห็นว่าใช้เงินแก้ไขจำนวนมากแล้ว แต่เศรษฐกิจไม่โต ถือว่าไร้ประสิทธิภาพเป็นรัฐบาลกู้เป็นอย่างเดียว
3.จัดงบโดยการตัดงบประมาณของกระทรวงอื่น แต่เพิ่มให้กระทรวงกลาโหม ชี้ให้เห็นถึงการไม่จัดลำดับความสำคัญ ชัดเจนที่สุดคือกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังต่อสู้กับโควิด แต่กำลังถูกลดงบประมานลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี ถูกตัดมากถึง 4.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 2.74% ซ้ำยังมี ศบค.ที่ให้ฝ่ายทหารเข้ามาคุมยึดอำนาจกระทรวงสาธารณสุขไปบริหารโดยไม่มีความรู้ ศบค.จึงล้มเหลวในการกระจายวัคซีน แต่กระทรวงกลาโหมกับได้งบปี 65 เพิ่มเป็น 6.6% เทียบกับปี 64 ได้เพิ่ม 0.1% โดยกองทัพนำไปซื้ออาวุธ เป็นเงิน 8,274 ล้านบาท ยังไม่รวมงบผูกพันของ 3 เหล่าทัพ เช่นกองทัพเรือที่ใช้งบถึง 3.7 ล้านบาท ไปซื้อเรือดำน้ำแบบจีทูจี
4.การกระจายงบไม่เป็นธรรมเอื้อให้พวกพ้อง เช่นการที่นายกฯ บอกการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติเป็นแค่วาทกรรมสร้างภาพสวยหรู เช่น พื้นที่สีแดงกลับได้รับวัคซีนน้อยกว่าพื้นที่สีเขียวและสีขาว
"จะรอดูวันที่ 7 มิ.ย.64 ที่รัฐบาลคุยว่าจะมีการปูพรมฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่าจะติดโรคเลื่อนหรือไม่ ถ้าวัคซีนมีปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะวันนี้ประชาชนไม่เชื่อคำพูดของท่านแล้ว เดี๋ยวลงทะเบียนหมอพร้อม เดี๋ยวไม่ต้องลง"
5.การจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดน้อยลง ทั้งที่มีการเลื่อนจัดเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นออกไปและจัดเก็บได้น้อยอยู่แล้ว แทนที่รัฐบาลจะจัดสรรงบอุดหนุนพัฒนาให้ท้องถิ่นลดความเหลื่อมล้ำ
"วันนี้เกิดวิกฤติศรัทธาในตัวนายกฯ ถ้ายังปล่อยให้บริหาร วันนี้ท่านกำลังพาชาติเสี่ยงวินัยการเงินคลัง ท่านบริหารมา 7 ปี เพิ่งจะประกาศให้แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ เพราะถูกจัดลำดับให้ตกต่ำลงเรื่อยๆ และท่านไม่มีความตั้งใจในการปราบปรามการทุจริตเลย ตนจึงไม่สามารถรับร่าง พ.ร.บ.งบปี 65 ที่ส่อไปในทางไร้ประสิทธิภาพและส่อทุจริต ซึ่งหลังจากนี้จะมีสมาชิกฝ่ายค้านลงรายละเอียดต่อไป"